โหมโรงจุดเสี่ยง เศรษฐา1 ครม.ต่างตอบแทน

เปิดจุดเสี่ยงรัฐบาลเศรษฐา 1 ครม.ต่างตอบแทนไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ พร้อมย้อนรอยการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีโดยไม่สนผลประโยชน์ของประเทศชาติของ 4 พรรคใหญ่ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ จับตาหลังการบริหารคนละทิศทางจะเดินสู่จุดอับหรือไม่

การเมืองไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลเศรษฐา 1 กำลังเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่คำถามคือ รัฐบาลภายใต้การบริหารของพรรคเพื่อไทยจะไปได้ไกลถึงขนาดไหน เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาล 314 เสียงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีจุดเสี่ยงที่อาจเป็นหายนะทางการเมืองเนื่องจาก รัฐบาลชุดนี้เป็นไปในลักษณะ ครม.ต่างตอบแทนที่ยึดผลประโยชน์มากกว่าประเทศชาติ

 

 

จุดกำเนิดของ ครม.ต่างตอบแทนมีปฐมบทเริ่มจากหลังจากการเลือกตั้งมีสองพรรคการเมืองใหญ่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง และสอง คือพรรคก้าวไกล 151 เสียง และพรรคเพื่อไทย 141 เสียง แต่ทั้งสองพรรคไม่อาจประสานกันได้ เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีจุดยืนเรื่องการแก้ไข ยกเลิกมาตรา 112 อย่างชัดเจนจึงทำให้ไม่ผ่านด่านของ สว.ในการเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และด้วยเหตุนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องสลัดพรรคก้าวไกลทิ้ง โดยไปดำเนินการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเอง

ในภาวะของเพื่อไทยที่มีเสียง สส.จำนวน 141 เก้าอี้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก จึงต้องจำยอมแลกทุกทุกอย่างในการมัดรวมกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ได้ เพราะมันคือเดิมพันครั้งใหญ่ในการกลับมาถือครองอำนาจรัฐ รวมถึงการปูทางให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน ดังนั้นทุกองคาพยพจะต้องเมกชัวร์ว่า เพื่อไทยต้องได้เป็นผู้นำรัฐบาลเท่านั้น

นี่จึงเป็นที่มาของการดึงพรรคสองลุงอย่างพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติเข้ามาร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้เสียง สว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาผ่านไปด้วยดี แม้จะต้องกลืนเลือดผิดสัจจะวาจาที่เคยให้คำมั่นกับบรรดากองเชียร์ว่าจะไม่มีทางจับมือกับพรรคสองลุงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้กลายเป็นที่มาของโรงเรียนการละครเพื่อไทยกรณีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อรักษาคำมั่น แต่กลับไปเสวยสุขกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามโผครม.ล่าสุด

 

 

เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นผลประโยชน์ทางการเมืองจึงทำให้บรรดาพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลถือแต้มต่อในการจับจองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ โดยเฉพาะตลอดเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นภาพการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียะเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเคยหล่นวาจาเรื่องการแย่งชามข้าวสุนัข

ตัวอย่างเด่นชัดของภาพครม.ต่างตอบแทน คือ กรณีการต่อรองเก้าอี้ของ 3 พรรคใหญ่ เริ่มจากพรรคภูมิใจไทยที่ตอนเข้าร่วมรัฐบาลมีธงชัดเจนว่า ต้องได้กระทรวงคมนาคมเท่านั้น โดยตอนนั้นแกนนำภูมิใจไทยอ้างว่า ต้องการสานงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ในความจริงแล้วสาเหตุที่ภูมิใจไทยต้องการปักธงที่กระทรวงคมนาคมเป็นเพราะต้องการสานต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีผลประโยชน์มหาศาล และที่สำคัญต้องดูแลคดีสำคัญที่ดินรถไฟเขากระโดงที่ถือเป็นจุดตายของพรรคภูมิใจไทยหากปล่อยให้ไปอยู่ในมือพรรคการเมืองอื่น

แต่ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ต้องการกระทรวงคมนาคม เพราะถือเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องดูแล และที่สำคัญยังมีนายทุนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้ภูมิใจไทยเข้าไปดูแลกระทรวงคมนาคม เนื่องจากไม่ลงรอยกัน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นี่จึงเป็นที่มาของการที่พรรคเพื่อไทยต้องเอากระทรวงเกรดเอบวกอย่างมหาดไทยประเคนให้ภูมิใจไทย เพื่อแลกกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งความสำคัญของกระทรวงมหาดไทยเป็นที่ทราบกันดีว่าหากใครได้เป็นเจ้ากระทรวงจะสามารถควบคุมเครือข่ายข้าราชการในส่วนงานปกครอง และท้องถิ่นได้หมดไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์กรท้องถิ่นตาง ๆ ทั่วประเทศ ฯลฯ

เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐแม้จะมีจำนวนเสียงแค่ 40 เก้าอี้ แต่ยังมีปัจจัยใหญ่คือการคุมเสียงสว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพลังประชารัฐเล่นใหญ่ด้วยการขอยึดเก้าอี้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์มาครอง และด้วยปัจจัยที่เพื่อไทยตกอยู่ในสถานะต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ จึงต้องยอมตัดใจกระทรวงเกษตรฯให้แก่พลังประชารัฐอย่างชอกช้ำ แม้ในตอนนั้นจะมีแกนนำในพรรคเพื่อไทย รวมถึงกลุ่ม สส.อีสานจะออกมาคัดค้านว่า กระทรวงเกษตรต้องเป็นของเพื่อไทยเท่านั้น

สำหรับกระทรวงเกษตรในสายตาของคนเพื่อไทยมันคือกระทรวงหลักที่ทำให้เพื่อไทยครองใจประชาชนชาวรากหญ้ามาตลอดเกือบ 20 ปีนับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทยหลายโครงการถูกนำมาใช้เป็นประชานิยมเพื่อซื้อใจพี่น้องเกษตรกรที่เห็นได้ชัดคือโครงการจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาเกวียนละ 15,000 บาท ซึ่งแม้โครงการดังกล่าวจะมีการทุจริตทำให้ประเทศชาติเสียชาติเกือบ 6 แสนล้านบาท ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ รวมถึงนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.พาณิชย์ และเอกชนผู้เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดี แต่ในสายตาของชาวนาแล้วโครงการจำนำข้าวทำให้พวกเขาลืมต้าอ้าปาก

มาถึงพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีเก้าอี้ สส.ในมือแค่ 36 เสียง แต่กลับเสียงดังกว่าใคร เพราะมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยค้ำจุนพรรคให้แบบเงียบๆ แต่เปี่ยมไปด้วยพลังแฝงอันยิ่งใหญ่ หากใครยังจำกันได้ในช่วงหลังการเลือกตั้งแม้ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยกำลังจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล แต่พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรยกับสมาชิกในพรรคว่า ไม่ว่าอย่างไรรวมไทยสร้างชาติจะได้เป็นรัฐบาล

เมื่อเพื่อไทยดึงรวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาลโดยมีปัจจัยพ่วงในเรื่องเสียงสนับสนุนของ สว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีให้นายเศรษฐา ซึ่งพลังของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำให้ผิดหวัง เนื่องจาก สว.กว่า 100 เสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เทคะแนนให้นายเศรษฐาอย่างท่วมท้น

อย่างไรก็ตามการได้มาในตำแหน่งนายกฯของพรรคเพื่อไทยต้องแลกมาด้วยการต่อรอง เนื่องจากรวมไทยสร้างชาติมีธงหลักคือกระทรวงพลังงาน เพราะเก้าอี้นี้คือเป้าหมายหลักของนายทุนกลุ่มพลังงานที่สนับสนุนรวมไทยสร้างชาติวางธงไว้ชัดเจนว่า ห้ามพลาด

ทั้งนี้แม้พรรคเพื่อไทยจะรู้ดีว่ากระทรวงพลังงานถือเป็นกระทรวงที่มีผลประโยชน์มหาศาลทั้งในปัจจุบัน และอนาคต แต่ด้วยภาวะทางการเมืองที่บีบคั้น จึงจำต้องยอมปล่อยกระทรวงพลังงานหลุดมือไปอีกหนึ่งกระทรวง

 

 

ขณะเดียวกันในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ไม่อาจหลีกพ้นผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยสิ่งที่ชัดเจนคือการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความคู่ใจของของนายทักษิณ และตระกูลชินวัตร โดยในพิชิตถือเป็นขุนพลคู่ใจของนายทักษิณที่เคยติดคุกคดีละเมิดอำนาจศาลกรณีถุงขนม 2 ล้านบาท

ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่า นายพิชิต คือสายล่อฟ้าของพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยความภักดีต่อนายใหญ่ จึงทำให้มีชื่อเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการคาดคะเนว่า นายพิชิตจะมาดูแลเรื่องกฎหมายคล้ายกับนายวิษณุ เครืองาม ในรัฐบาลบิ๊กตู่ ทั้งที่ความจริงแล้วมีคนในพรรคเพื่อไทยที่เหมาะสมกว่านายพิชิต คือ นายชูศักดิ์ สิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายยิ่งกว่านายพิชิต แต่สุดท้ายนายชูศักดิ์ก็หลุดแบบไม่ทันตั้งตัวทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเพื่อไทย

สิ่งเหล่านี้นี่คือปัจจัยที่เป็นมูลเหตุอาจทำให้รัฐบาลชุดนี้อาจไม่จีรังยั่งยืนหลังจากเข้ามาบริหารประเทศ เพราะต่างฝ่ายต่างบริหารงานไปคนละทิศทางโดยยึดผลประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง และนี่คือจุดเสี่ยงรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่เป็นผลมาจากครม.ต่างตอบแทนก็เป็นไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น