จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงบ่ายได้มีการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ที่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ พร้อมด้วยญัตติในทำนองเดียวกันอีก 10 ฉบับ
โดยเมื่อนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ได้เริ่มอภิปรายหลักการและเหตุผลของญัตติดังกล่าว ปรากฏว่า นายปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้เสนอให้มีการนับองค์ประชุม เนื่องจากถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ต่างรอให้มีการแก้ปัญหา แต่ในห้องประชุม กลับไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญแต่อย่างใด
หลังจากที่มีการนับองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ มีสมาชิกเข้าแสดงตนเพียง 98 คน ทำให้ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้สั่งปิดการประชุมในทันที
ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.จ.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย สส.ของพรรค แถลงภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ว่า
เนื่องจากมี สส.ของพรรคก้าวไกลเสนอให้มีการนับองค์ประชุม โดยระบุว่า ในจำนวน 11 ญัตติ ที่พรรคการเมืองยื่นเข้ามา มีญัตติของ สส.จากพรรคภูมิใจไทยอยู่เกือบครึ่ง ซึ่ง สส.ของพรรคได้นั่งรอกัน ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ในการที่จะขึ้นอภิปราย เพราะทราบดีว่า กำลังเข้าสู่วาระพิจารณาในเรื่องสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลพยายามแทรกคำถามของการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แซงหน้า 11 ญัตติ ที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน ซึ่งไม่ใช่มีเพียงญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน ก็เสนอญัตติรวมอยู่ด้วยเช่นกัน โดย สส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนระเบียบวาระ
นายภราดร กล่าวต่อว่า จนถึงวันนี้ อภิปรายไปแล้ว 1 ญัตติ ก็ได้มี สส.พรรคก้าวไกลเสนอให้นับองค์ประชุม ก่อนจะมีการกล่าวหาว่า พรรคร่วมรัฐบาลเล่นละคร เรื่องปากท้องของประชาชนสำคัญ แต่เรื่องการทำประชามติไม่สำคัญ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทย ก็เคยเห็นชอบกับการเสนอคำถามประชามติ เพียงแต่ตอนนี้เราเห็นว่า ปากท้องของประชาชนสำคัญกว่า