“ทักษิณ ชินวัตร” ทำสิ่งมิบังควรซ้ำซาก จาก 2552 ล่า 3 ล้านรายชื่อเสื้อแดงถวายฎีกา ถึง 2566 ร่างหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

"ทักษิณ ชินวัตร" ทำสิ่งมิบังควรซ้ำซาก จาก 2552 ล่า 3 ล้านรายชื่อเสื้อแดงถวายฎีกา ถึง 2566 ร่างหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ

ถือเป็นประเด็นร้อนจากการที่ นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร เลือกวิธีการร่างหนังสือยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ แทนการเข้ารับโทษจำคุก คุมขัง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเวลา 8 ปี จากการกระทำความผิด คดีอาญา ต่างกรรมต่างวาระ ประกอบด้วย

 

 

(1) คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

(2) คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลย

(3) คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/255ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย

ไม่เท่านั้น นักโทษชาย ทักษิณ ยังใช้วิธีการอ้างสาเหตุการป่วย ในการย้ายตัวเองจากแดน 7 เรือนจำพิเศษกรุุงเทพ มานอนพักรักษาตัว อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ชั้น 14 และใช้เหตุผลจากการป่วยดังกล่าว ในการยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ คดีอาญาอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเรื่องการทุจริต จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเป็นการเลือกใช้ช่องทางพิเศษทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และเท่ากับเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ในการต้องทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด

 

 

อย่างไรก็ตามวิธีการที่นักโทษชาย ทักษิณ เลือกทำเลือกใช้ในการทำให้ตนเองหลุดพ้นจากทุกการกระทำความผิด ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ นักโทษชายทักษิณ เคยปฏิบัติมาแล้วผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. โดยการระดมล่ารายชื่อประชาชนยื่นถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายทักษิณ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

 

วันที่ 31 ก.ค.2552 นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ประกาศบนเวทีปราศรัย ว่า จำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 5,363,429 คน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่างปรบมือโห่ร้องแสดงความดีใจ ตามด้วย นายทักษิณ ได้โฟนอินมาที่เวทีปราศรัยนปช. ขอบคุณประชาชนที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกา

 

ต่อมานายวีระ ระบุว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ยื่นฎีกาและถ่ายเอกสารลงในคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตัวเลขตอนต้นที่แจ้งไว้คือ 5.4 ล้านชื่อ แต่หากตรวจสอบหมดสิ้นอาจมีถึง 6 ล้านชื่อก็ได้ ดังนั้น จึงขอนัดวันเวลายื่นถวายฎีกาเป็นวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 13.30 น. เป็นฤกษ์ที่เหมาะสม โดยจะมีตัวแทนเข้ายื่นชื่อถวายฎีกา 1,500 คน เพื่อขนรายชื่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ 6 ส.ค.2552 นายทักษิณ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เช้านี้ได้รับโทรศัพท์จากชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ ว่า รัฐบาลใช้ทุกวิธีไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่บังคับเพื่อให้ถอนชื่อ ผมขอถามว่าประชาธิปไตยหายไปไหนแล้ว”

 

 

จากนั้นวันที่ 17 ส.ค. 2552 กลุ่มแกนนำคนเสื้่อแดง นปช. ได้นำรายชื่อจำนวน 3,532,906 คน ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ผ่านนายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ รองราชเลขาธิการ ณ ประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง โดย ทักษิณ ทวีตข้อความว่า “ผมรู้สึกตื้นตันใจมากกับ 4.1 ล้านชื่อที่ถวายฎีกา เมื่อสักครู่เลยพูดที่สนามหลวงไม่ค่อยออกครับ”

 

 

ขณะที่กระทรวงยุติธรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง การทำความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจาก กรณีที่ประชาชนจำนวนมากถูกชักชวนให้ร่วมลงชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าจะทำให้ นายทักษิณ พ้นจากการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลนั้น

 

กระทรวงยุติธรรม ขอชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ จึงเห็นควรชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนดังนี้

 

1.สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ได้รับรองสถานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติและทรงอยู่ภายใต้ กฎหมายเช่นเดียวกับพสกนิกรของพระองค์

 

ขณะเดียวกันกฎหมายก็ได้ยอมรับขนบธรรมเนียมของชาติที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระเมตตา มีพระราชอำนาจในการอภัยโทษได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกรอบและกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 และระเบียบปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมา ผู้ที่มีสิทธิและสามารถจะขอพระราชทานอภัยอภัยโทษได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ว่าจะต้องเป็นตัวของผู้ต้องคำพิพากษาของศาลให้รับโทษทางอาญา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเท่านั้นเป็นผู้ยื่นแสดงความจำนงขอพระราชทานอภัยโทษตาม หลักเกณฑ์และกฎหมาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอน การดำเนินการและประวัติความประพฤติตลอดจนความร้ายแรงของการกระทำความผิดของผู้ต้องคำพิพากษาเพื่อทำความเห็นประกอบการทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย

 

2.กระบวนการทางกฎหมายข้างต้นนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด ไม่เคยปฏิบัตินอกเหนือจากนี้ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ลำพังเพียงผู้ต้องคำพิพากษา บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเพียงคนเดียวก็สามารถดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ประชาชนที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นจำนวนมากมาลงชื่อ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าผู้ดำเนินการซึ่งทราบว่าไม่มีสิทธิและทำไม่ได้นั้น มีวัตถุประสงค์อะไรในการดำเนินการเช่นนี้ หรือเพียงเพื่อตั้งใจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นทางการเมือง

 

3.กระทรวงยุติธรรมเชื่อว่า พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีความประสงค์จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง และ ผู้ที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษกับกลุ่มคนดังกล่าวอาจมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอพระราชทานอภัยโทษและคาดไม่ถึงว่า จะถูกนำไปผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงขอทำความเข้าใจกับประชาชนชาวไทยที่มีความรักชาติ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วย การขอพระราชทานอภัยโทษ และหากพี่น้องชาวไทยได้รับทราบและเข้าใจข้อเท็จจริงนี้แล้วคิดว่าการลงชื่อ ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นและวัตถุประสงค์ของท่าน ก็ขอให้ท่านดำเนินการถอนชื่อของท่านออกจากกระบวนการดังกล่าวก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม

 

ทางด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มนปช.และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากยื่นเรื่องถวายฎีกาไปแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของส่วนราชการ ที่ควรจะรายงานความคืบหน้าต่อประชาชนให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ตรงกันว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว สิ่งที่ประชาชน 3 ล้านรายชื่อเข้าชื่อถวายฎีกานั้นจะปล่อยให้เงียบหายไปเฉยๆ ไม่มีความคืบหน้าคงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง กระบวนการทั้งหมดควรได้รับการเปิดเผย และเป็นหน้าที่ของฝ่ายราชการที่ดูแลที่น่าจะให้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดได้

 

จากการล่ารายชื่อคนเสื้อแดงจำนวนกว่า 3 ล้านรายชื่อ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 จนถึงวันนี้ผ่านไปกว่า 10 แล้ว ไม่ปรากฎว่ามีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด แต่กลับกลายเป็นว่า นักโทษชาย ทักษิณ กลับเลือกวิธีการเดิม ๆ ในการกระทำสิ่งมิบังควร ซ้ำ ๆ อีกครั้ง เพื่อความสุขสบายของตนเองในชีวิตบั้นปลาย ทั้ง ๆ ที่การกระทำผิดที่ผ่านมา เป็นความผิดอาญาฐานทุจริต ประพฤติมิชอบต่อแผ่นดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

วธ. ปักหมุด ยลวิถีตาลบ้านถ้ำรงค์เมืองเพชร เปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ "เที่ยวชุมชน ยลวิถี"
แห่ชื่นชม ขบวนพาเหรดดอกไม้ไทย ร่วมงาน Bloemencorso 2025 เนเธอร์แลนด์
"ชัชชาติ" ยืนยันยอดผู้เสียชีวิต "ตึกสตง. ถล่ม 35 ราย เร่งค้นหาอีก 59 ผู้สูญหาย
"กรมบัญชีกลาง" แจงปมถูกกล่าวอ้างชนะโครงการ "ตึกสตง." เพราะรู้ราคาประมูล ไม่เป็นความจริง ย้ำมีการเข้ารหัส 2 ชั้น เก็บข้อมูลในบล็อกเชน
สุดยิ่งใหญ่! สวนนงนุชพัทยานำทีมไทยร่วมโชว์ขบวนพาเหรดดอกไม้ งาน Bloemencorso Bollenstreek ที่เนเธอร์แลนด์ นักท่องเที่ยวแห่ถ่ายรูปคึกคัก
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชวนเที่ยวสงกรานต์ ต้อนรับปีใหม่ไทย ร่วมสืบสานประเพณีในธีมงานวัดและชมความน่ารักของสัตว์นานาชนิด
"คนกรุงฯ" เห็นใจเอกชนแบกภาระค่าใช้จ่าย ฝากกทม.เร่งจ่ายหนี้ กังวลถ้ารถไฟฟ้าสีเขียวหยุดวิ่ง กระทบชีวิตหนักแน่
"DSI" อัปเดต คดีนอมินีจีนสร้างตึกสตง.ถล่ม ลุยต่อตรวจสอบเส้นทางเงิน-เลี่ยงภาษี
สถานีขนส่งอุทัยฯคึกคัก ปชช.แห่ซื้อตั๋วเดินทางกลับภูมิลำเนา รถทัวร์-รถตู้ ถูกจองเต็มเกือบทุกเที่ยว
จนท.เตรียมเจาะแผ่นปูนเชื่อมฐาน ”ตึกสตง.“ จุดพบแสงมือถือ ยังมีความหวังเจอผู้รอดชีวิต

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น