วันที่ 1 ก.ย. 66 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ “หมอตุลย์” อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีตัวแทนเลขาธิการฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้รับมอบหนังสือ โดยให้พิจารณาว่าคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160 และมาตรา 98 หรือไม่
โดย นพ.ตุลย์ กล่าวว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160 และมาตรา 98
ทั้งนี้ นพ.ตุลย์ ยังกล่าวต่อว่า นายพิชิต ชื่นบาน เป็นทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร ในอดีตมีกรณีความพยายามจะมอบเงินจำนวน 2 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่ของศาล ในระหว่างการพิจารณาคดีของนายทักษิณ ชินวัตร และถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุก 6 เดือน ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล และคณะกรรมการมารยาทของสภาทนายความ ได้พิจารณาพฤติกรรมของ นายพิชิต ชื่นบาน ในกรณีนี้ และตัดสินว่า นายพิชิต ชื่นบาน มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี เป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของทนายความ และสภาทนายความได้ลงโทษให้ถอดถอนใบอนุญาตทนายความเป็นเวลา 5 ปี
จึงกล่าวได้ว่า นายพิชิต ชื่นบาน เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ทนายความให้นายทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่สุจริต มีเจตนาช่วยเหลือให้จำเลยชนะคดีและพ้นโทษ ด้วยวิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมา ด้วยเหตุนี้นายพิชิต ชื่นบาน จึงถือได้ว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐรรมนูญมาตรา 190 (5) ส่วนกรณีที่ศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน ข้อหาละเมิดอำนาจศาลนั้น เกิดขึ้นเกินระยะเวลา 10 ปี มาแล้ว จึงไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (7)