สะพัด “กรมราชทัณฑ์” จ่อขยับ ‘ทักษิณ’ เป็นนักโทษชั้นดี หลังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ

สะพัด "กรมราชทัณฑ์" จ่อขยับ ‘ทักษิณ’ เป็นนักโทษชั้นดี หลังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ

หลังจากที่เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยลดโทษจำคุกทั้งหมด 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (2 ก.ย. ) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผย จากแหล่งข่าวระดับสูงถึงฉากทัศน์ความเป็นไปหลังจากนี้ ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างรับโทษจำคุก 1 ปี และยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า เดิมศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คือ คดีที่ 1 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี  คดีที่ 2 ความผิดต่อตำแหน่งกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งภายหลังศาลให้นับโทษสูงสุดแทน จึงรวมโทษจำคุกคดีที่ 1 และ 2 เป็น 3 ปีแทน  และ คดีที่ 3 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กำหนดโทษจำคุก 5 ปี  รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

เมื่อมีพระราชทานอภัยลดโทษลงมา จึงเหลือเพียงปีเดียว เท่ากับว่า นายทักษิณเหลือโทษจำคุกเพียง 1 ปี จากนั้นอาจจะต้องไปดูในเรื่องของชั้นนักโทษของนายทักษิณ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่า ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุกและการพักการลงโทษ พ.ศ. 2559 โดยนายทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทยและเข้ามาเป็นนักโทษในเดือนสิงหาคม จึงเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง และถูกปรับเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีโดยอัตโนมัติ ตามระเบียบดังกล่าวที่กำหนดไว้ว่า ให้นักโทษเด็ดขาดที่เข้าเรือนจำในเดือนสิงหาคม ถูกเลื่อนชั้นจากนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเรือนจำฯ ในเดือนกันยายน ก็จะต้องรอรับการปรับชั้นนักโทษในเดือนธันวาคม

เมื่อถามว่าในกรณีของนายทักษิณนั้น จะได้รับการลดโทษลงอีกในวันสำคัญต่าง ๆ หลังจากนี้หรือไม่ หรือต้องรับโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่มีลดหย่อนตามที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า พระราชอำนาจเด็ดขาดนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เรื่องของการพระราชทานอภัยโทษตามวันสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จะถึงในเร็ววันนี้คือวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ซึ่งไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า ในวันสำคัญต่าง ๆ นั้น จะมีพระราชทานอภัยโทษหรือพระราชทานอภัยลดโทษให้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่มิอาจก้าวล่วงได้

อย่างไรก็ตาม จะมีเรื่องเกณฑ์อายุของผู้ต้องขัง เช่น กรณีเป็นผู้ต้องขังสูงวัย พ่วงด้วยโรคอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะได้รับการพิจารณาพักโทษ ซึ่งทางผู้บัญชาการเรือนจำจะดำเนินการตรวจดูเรื่องหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดีรายใด เข้าเกณฑ์พักโทษ และรายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ แล้วจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาอนุมัติ ท้ายสุดจึงจะแจ้งให้ผู้ต้องขังรับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบุคคลมีชื่อเสียงหลายรายที่ได้รับการพักโทษและออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้านนอก เพียงแต่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในการรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติ เช่น กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย / กรณีของนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นต้น อีกทั้งบางรายอาจจะมีการติดกำไลอีเอ็มสักระยะ แต่หากคณะกรรมการเห็นว่ามารายงานตัวปกติ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็จะอนุญาตปลดกำไลอีเอ็ม

แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า ถือเป็นเกณฑ์ปกติสำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้เข้าเกณฑ์การพักโทษ เช่น การเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ไม่เคยประพฤติผิดวินัย หรือขณะที่อยู่ในเรือนจำมีความประพฤติดี ซึ่งเรือนจำฯ ก็จะมีการเสนอแจ้งไปยังผู้ต้องขังว่า เข้าเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ระหว่างการพักโทษ ผู้ต้องขังจะอยู่พื้นที่ใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีเงื่อนไข คือ ห้ามก่อคดี ห้ามกระทำความผิดระหว่างการคุมประพฤติ ดังเช่น ในกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่มีเงื่อนไขห้ามพูดเรื่องการเมือง เป็นต้น

ทำให้ในกรณีของนายทักษิณที่เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ทางคณะกรรมการอาจพิจารณาการพักโทษตามเงื่อนไขการที่ระบุไว้ข้างตน ส่วนเรื่องจำกัดรัศมีกิโลเมตรหลังการพักโทษนั้นแล้วแต่รายบุคคล เพราะบางรายอาจจะถูกเงื่อนไขจำกัดได้แค่พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ส่วนถ้าจะไปต่างจังหวัด ก็ต้องดำเนินการแจ้งขออนุญาต อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะเป็นความรับผิดชอบของหน้างานกรมคุมประพฤติและเมื่อจบกระบวนการพักโทษ จึงค่อยดำเนินการรายงานต่อศาล แล้วเข้าสู่กระบวนการปล่อยตัวตามวันเวลา เพราะถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว

เมื่อถามถึงเรื่องการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ จะมีกรอบเวลาถึงเมื่อไหร่ แหล่งข่าวระบุว่า การนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ จะนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่ที่อาการความเจ็บป่วยหนักหรือเจ็บป่วยเบา ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ทำการรักษา หากแพทย์ประเมินว่า จะต้องอยู่รับการรักษาต่อเนื่องก็ต้องอยู่ แต่ถ้าประเมินว่าอาการทุเลาดีขึ้นพิจารณาส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็สามารถกลับเข้าไปรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้

แหล่งข่าวยังยืนยันด้วยว่า นายทักษิณได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันแรกที่นายทักษิณเดินทางกลับมายังประเทศไทยและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีเอกสารประกอบการถวายฎีกา ทั้งคำพิพากษาของศาลรายคดี / เอกสารรายงานคุณงามความดี / ข้อมูลประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วย / และหลักฐานอื่น ๆ ส่วนตัว แต่ภายหลังการยื่นนั้น ก็เป็นกระบวนการตรวจสอบเอกสารของทางเรือนจำฯ /กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ไปตามลำดับชั้น จึงเป็นห้วงเวลาตามที่สังคมได้เห็นกัน 10 วันนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม ก่อนปรากฏพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 .

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

‘อี้ แทนคุณ’ พาเหยื่อร้องปคม. ถูกหลอกข้ามแดนลวงเปิดบัญชีม้า หลังพบมีหมาย 450 คดี
คืนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 รถไฟฟ้าบีทีเอส - สายสีทอง ขยายเวลาให้บริการถึงตี 2
“เพื่อไทย” จัดเต็ม ชาวเชียงใหม่เรือนหมื่นแห่ฟัง “ทักษิณ” สว.ก๊องมั่นใจ พ่อใหญ่แม้วช่วยหาเสียงชนะแน่
ชาวบ้านทรุดก้มกราบ “ทักษิณ” ขอปรึกษาปัญหาชีวิต การ์ดรีบยกตัวออก
เกมแล้ว! หนุ่มแต่งรถประดับไฟสี ธีมคริสต์มาส ขับเฉิดฉายทั่วถนน ปรับฉ่ำๆ 2 ข้อหา
แจ้ง 4 ข้อหาหนัก 'อส.เมากร่าง' ยิงสนั่นกลางร้านข้าวต้ม ดับ 2 ศพ เปิดวงจรปิดอีกมุม เห็นวินาทีก่อเหตุชัด
ตร.ไซเบอร์ ขยายผลตามรวบ "ผู้จัดหาบัญชีม้า" แก๊งลวง "ชาล็อต" กว่า 4 ล้านบาท
“บิ๊กอ้วน”ซัดปาก! พวกกระหายสงคราม “บิ๊กปู” คอนเฟิร์ม “ว้าแดง” เรียบร้อยดี
เวียงแหงโมเดล! เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World เครือซีพี ปักธง FIGHT หมอกควันชายแดนไทย-พม่า เรียนรู้-ชวนชุมชมร่วมลด PM 2.5
ทิพยประกันภัย จับมือ NT ลงนาม MOU พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคดิจิทัล

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น