เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ” โดยมี ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย , ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) , ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ร่วมเสวนา
ดร.นณริฎ ระบุว่า ความท้าทายระยะสั้น คือ การต่อสู้ระหว่างแรงกดดันที่อยากให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จึงควรคัดนโยบายที่สำคัญ เหมาะสมกับช่วงระยะเวลา บางนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องทำแล้ว บางนโยบายอาจจะปรับขนาด เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องดูในปัจจุบันว่าจำเป็นต้องกระตุ้นระดับไหน โดยเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจไทยที่ควรจะเป็น ซึ่งหากประมาณการว่าโดยเฉลี่ยเศรษฐกิจไทยควรเติบโต 3.7-3.8 % แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2.8% เท่านั้น แปลว่าหายไป 1% หรือราวๆ 1-2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น การให้งบ 5.6 แสนล้านบาท อาจจะเยอะเกินไป เสี่ยงเกิดภาวะเงินเฟ้อ หากตัดบางส่วนมาใช้สำหรับรัฐสวัสดิการก็เป็นทางออกได้
อีกเรื่องคือ การแก้ปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ใช่การยกหนี้ แต่ต้องมีการจัดกลุ่มหนี้ แล้วแก้ปัญหาหนี้นั้นให้ตรงจุด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลมาร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง ครัวเรือนของไทยที่สูงถึง 90% ต่อจีดีพี คนที่มีปัญหามากที่สุด คือ คนที่ไม่มีเงินออมเลย ขณะที่ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าคนเราควรมีเงินออมอย่างน้อย 3 -6 เดือน แต่คนรุ่นใหม่อาจจะน้อยกว่านี้อีก ดังนั้น เป็นโจทย์ที่จะต้องปลูกฝังการออม ลดการเติบโตผ่านการจับจ่ายใช้สอย
นอกจากนี้ ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจการกระจายทรัพยากรเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมถึง การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าถึงคนจนจริง แต่เพิ่มให้มีการเข้าถึงมากขึ้น ที่สำคัญคือเนื่องจากเรามีการแจกมาระยะหนึ่งแล้ว จากนี้ต้องเป็นการเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้
ด้าน ดร.ธนิต กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นตัวเลือกที่เราไม่มีทางเลือก แต่ดีที่สุดในแคนดิเดตทั้งหลาย แต่นายเศรษฐา คงไม่ต้องเรียนรู้งานมากเพราะมาจากภาคเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพที่บอบช้ำต่อเนื่องมาหลายปี จากรัฐประหาร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้การลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง วันนี้ก็ยังไม่ฟื้น จากนั้นก็มีรัฐบาลที่เน้นเรื่องความมั่นคง และมั่งคั่ง มานาน 9 ปี ที่เน้นความมั่นคง จากนั้นก็มาเจอวิกฤติโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นทั้งโลก เมื่อกำลังจะฟื้นก็เจอเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ กระทบราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูด แล้วดึงราคาพลังงาน และสินค้าต่างๆ ให้เพิ่มตามไปด้วย เกิดภาวะเงินเฟ้อปีที่แล้วเฉลี่ย 6% วันนี้ไม่ลดลงเลย แม้จะขึ้นมา 0.38% ปีนี้จะทำให้ได้ 1% แต่ก็ไม่ถือว่าลดลง กลับมาเจอวิกฤติโลกที่มีแนวโน้มว่าปีหน้าจะเจอ recession จะยิ่งหนัก
ดังนั้น เศรษฐกิจบอบช้ำมากถึงจะบอกว่ากลับมาได้แต่ก็ไม่มาก ส่งผลให้สภาพคล่องทั้งธุรกิจและครัวเรือนแรงมาก หนี้สินต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งหนี้ NPL หนี้ระยะยาว ต่างๆ เกือบ 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข หนี้ NPL รายไหนปล่อยเงินได้ก็ต้องปล่อย และที่แทรกซ้อนเข้ามา คือ การส่งออก ซึ่งหดตัว 6.2% ในเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นภาคส่วนที่มีการอุ้มแรงงานถึง 3 ใน 4 ของแรงงานทั้งประเทศ รวมถึงเกษตรกร จากนี้ต้องส่งออก 9% ตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป จากที่ติดลบเฉลี่ยทุกเดือน 5% แต่เป็นไปไม่ได้ ตนพยากรณ์ว่า ปีนี้พยากรณ์ว่าจะติดลบมากกว่า 3% ทั้งหมดทำให้กำลังซื้ออ่อน กำลังการผลิตต่ำ ข้อสุดท้าย คือความเชื่อมั่นของการค้า การลงทุน ดัชนีชี้วัดต่างๆ ติดลบหมดทุกเรื่อง