จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จ.ระยอง ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา โดยในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายอิทธิพล คุณปลื้ม และพวก กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 ก.ย.2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และการออกหมายจับดังกล่าว เนื่องจากพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามคดีทุจริตภาค 2 ได้นัดตัวส่งฟ้อง นายอิทธิพล เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า นายอิทธิพล ไม่ได้เดินทางมาตามนัด ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้องจึงยื่นขอศาลออกหมายจับ เพื่อนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาล จากนั้นศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วแต่ไม่เดินทางมา ซึ่งเข้าข่ายมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับในวันที่ 5 ก.ย.2566
ล่าสุดมีรายงานว่า สำหรับโครงการ“วอร์เตอร์ฟรอนด์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา จ.ชลบุรี นั้น เป็นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสุดหรู บริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นโครงการที่มีขนาดความสูง 53 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา บริหารงานโดย บริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างห้องพัก 312 ห้อง โดยในครั้งนั้นมีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติพากันมาเช่าซื้อกันอย่างคึกคัก สนนราคาตั้งแต่ 4-12 ล้านบาท
ต่อมาขณะที่ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในเมืองพัทยา ให้ข้อมูลว่า กรณีที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวก ได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 ก.ย.2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพะตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นั้น เป็นการเซ็นอนุญาตอย่างถูกต้อง เพาะทางโครงการได้ยื่นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณา ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์เอกสารการครอบครองที่ดิน แบบแปลนอาคาร รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และข้อมูลอื่นๆ ให้เมืองพัทยาตรวจสอบ
ขณะนั้นยังไม่มีเรื่องของการพิจารณา หรือคำสั่งในเรื่องของที่ดินว่ามีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นการพิจารณาออกใบอนุญาตจึงถือว่าเมืองพัทยาทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงการพิจารณาต่อใบอนุญาตครั้งแรกหลังผ่านพ้นเวลาตามกำหนดของกฎหมายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขของการพิจารณาว่าโครงการจะต้องมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปในสัดส่วน 10 เปอรืซ็นต์ ซึ่งพบว่าทางโครงการได้ดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงต่อใบอนุญาตไปให้