7 กันยายน 2566 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า อีกแล้ว ! รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. คมนาคม บอกว่า “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ต้องใช้เวลาเจรจา…ไม่น่าจะเกิน 2 ปี” นโยบายสำคัญเช่นนี้รัฐบาลจะทำได้ หรือจะล้มเหลวเหมือนในอดีต ติดตามได้จากบทความนี้
1. หาเสียงเลือกตั้งปี 2566
พรรคเพื่อไทยหาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ ว่า จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยไม่บอกรายละเอียดว่านั่งรถไฟฟ้าได้สายเดียว หรือหลายสาย มีวิธีการทำอย่างไร คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าใจกันว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วคงจะได้นั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในไม่นาน แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อ รมว. คมนาคม เผยว่าต้องรออีก 2 ปี ทั้งที่บอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ใช่ให้รอถึง 2 ปี
2. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้จริงหรือ ?
ผมขอตอบว่าทำได้จริง ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เดินรถไฟฟ้า อันประกอบด้วยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ตามด้วยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามลำดับ ก่อนจะหาเสียงด้วยนโยบายนี้ หากมีการเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้ไว้ก่อน ก็จะสามารถทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้โดยเร็ว ไม่ใช่ให้รอถึง 2 ปี
(1) รายได้จากค่าโดยสารของผู้เดินรถไฟฟ้าตามอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน
(2) รายได้จากค่าโดยสารกรณีเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากผู้โดยสารเดิม (รวมทั้งผู้โดยสารเดิมที่จะเดินทางเพิ่มขึ้น) และรายได้จากผู้โดยสารใหม่ (ผู้โดยสารที่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า แต่เมื่อค่าโดยสารถูกลง เขาเหล่านี้จะหันมาใช้รถไฟฟ้า)
ผลต่างของรายได้ทั้ง 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น คือรายได้ที่ผู้เดินรถไฟฟ้าได้รับน้อยลง นั่นคือเงินชดเชยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้เขา
ถ้าต้องการให้นโยบายนี้สำเร็จโดยด่วน กระทรวงคมนาคมสามารถหาข้อมูลดังกล่าวได้ทันที ผมมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เดินรถไฟฟ้า รัฐบาลจะได้รับความร่วมมืออย่างดี ดังนั้น การบอกให้รอถึง 2 ปี จึงเป็นข้ออ้างที่ยากจะเชื่อ