วันที่ 12 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า เนื่องจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มี 25 คน เวลาที่ได้จัดสรรจึงน้อยนิด จึงขอขอบคุณเพื่อนในพรรคที่กันเวลาไว้ให้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องขออภัยที่ตัวเองมีอาการหวัดลงคอมาหลายวัน อาจมีอาการผิดปกติบ้าง
นายชวน กล่าวว่า ในการอภิปรายนโยบาย นอกเหนือจากความเหมาะสมของนโยบายแล้ว ความสำเร็จก็อยู่ที่คุณสมบัติของผู้บริหาร คือคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงขอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สำหรับนายกรัฐมนตรี ขอแสดงความยินดีกับท่านเป็นส่วนตัว แต่ผมไม่ได้เห็นชอบท่าน ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติของท่าน แต่เพราะท่านมาจากพรรคการเมืองที่เลือกปฏิบัติ
โดยอธิบายว่าเพราะตัวเองเป็น 1 ใน สส. ที่ทุกข์ร้อนแทนชาวบ้าน เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยถือหลักว่า พัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเขา จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง ทำให้เกิดความรู้สึกกระทบจิตใจต่อคนที่ไม่ได้เลือก โดยเฉพาะในภาคใต้ กลุ่มของตัวเองจึงรณรงค์ประชาชนว่าไม่ต้องเลือกเขา ไม่ใช่วิธีรุนแรง กลั่นแกล้งด้วยวิธีอื่น ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อ พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งน้อยมาก ส่วนพรรคเพื่อไทยแทบไม่ได้เลยในภาคใต้ แม้จะได้เสียงเกือบแลนด์สไลด์ในที่อื่นก็ตาม
“ดังนั้นเมื่อขอร้องประชาชนไม่ให้เลือก แล้ววันหนึ่งมายกมือ หรือบอกสนับสนุนหัวหน้าพรรคนี้ให้เป็นนายกฯ มันเท่ากับหักหลังชาวบ้าน ทรยศประชาชน จึงขออนุญาตพรรคซึ่งมีมติงดออกเสียง แต่ผมขออนุญาตประกาศว่า ไม่เห็นชอบ ด้วยชัดเจน”
ทั้งนี้นายชวน กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนโยบายในอดีต ทำให้จังหวัดภาคใต้เสียโอกาสอย่างมาก ทั้งที่ทุกจังหวัดต่างสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ไม่ควรจะเลือกปฏิบัติ แล้วไปเก็บภาษีเขาโดยไม่ละเว้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้
“นายกรัฐมนตรีไม่เคยมีใครตรวจสอบเข้มข้นเท่าคนที่ 30 มีการนำประวัติการทำธุรกิจของท่านมาเปิดเผย ผมต้องกราบขออภัย ที่ผมไม่รู้จักท่านเศรษฐา (ชวน ออกเสียงว่า เชษฐา) ตัวจริง ผมเพิ่งรู้จักท่านเมื่อครู่นี้ ท่านให้เกียรติมาเยี่ยมที่ห้องอาหาร ถ้าผู้ตรวจสอบเขารู้ประวัติว่าท่านทำอะไรไม่ดีไว้ เช่น ระหว่างเรียนอยู่ต่างประเทศ ถ้าท่านเคยทุจริตในการสอบ เคยลักเล็กขโมยน้อย ผมเชื่อว่าผู้ตรวจสอบเขาไม่ละเว้น ข้อนี้เป็นประโยชน์ต่อท่าน”
“เมื่อมองมาตรฐานของพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย ในการเสนอบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐา คุณสมบัติไม่ด้อยกว่าคนอื่นเลย ถ้าจะเสนอแนะ ก็อย่าไปล้ำเส้น อย่าไปติดคุก อย่าหนีไปต่างประเทศ อย่าทำอะไรก็ตามที่มีปัญหา ไม่ทันพ้นตำแหน่ง 5 ท่านที่เสนอมา ผมไม่ขอเอ่ยชื่อ 1 ท่านเสียชีวิต ขณะรอคำพิพากษาจากศาลสูง ซึ่งศาลอุธรณ์ยืนจำคุก 2 ปี น่าเสียดาย ท่านถูกยึดทรัพย์ อีก 2 ท่าน ถูกคดีอาญา นายกฯ คนที่ 30 ท่านจะเจอชะตากรรมอย่างไร จะอยู่ที่ภาคปฏิบัติของท่านท่าน เราไม่สามารถวัดวันนี้ได้”
โดยชวน แนะนำว่า การจะหนีชะตากรรมเรื่องคดี คือต้องไม่โกง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลแถลงไว้ในนโยบาย คือแนวนโยบายซื่อสัตย์สุจริต รักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวม
ระหว่างนั้น นายอดิศร เพียงเกษ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แนะนำตัวว่า เป็นอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย เลขที่ B40013074018 ลุกขึ้นประท้วง กล่าวว่า ส่วนตัวเคารพในผู้อภิปราย แต่ขอให้พูดเรื่องนโยบาย ห้ามพูดเรื่องความหลังหรือคุณสมบัติมากนัก เหตุที่จำเป็นต้องประท้วง เพราะพูดถึงความหลังมากเกินไป นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่มียกเว้นจังหวัดใด ท่านเป็นนายกฯ 2 สมัย ทำไมไม่ทำ ทำให้ วันมูหะมัดนอร์ ตัดบท เพราะพาดพิงกันไปมา จะไม่จบ
นายชวน กล่าวต่อไปว่า การมีนักธุรกิจมาทำการเมือง ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่ขออย่าทำธุรกิจการเมือง คือนำผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวก จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม บทเรียนในอดีตล้วนมีค่ายิ่งต่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เสนอให้ทบทวนและชดเชยเหตุการณ์นี้ ว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้างจากการเลือกปฏิบัติ
“เพื่อนผมที่เป็นนักการเมือง ติดคุก 10 คน เพราะทำธุรกิจเป็นการเมือง หลายคนเป็นคนดีที่ไม่ควรจะเจอชะตากรรม แต่เพราะเกรงใจลูกพี่ ก็มีอันเป็นไปอย่างน่าเสียดาย บทเรียนเหล่านี้มีค่ายิ่งสำหรับนายกฯ คนที่ 30”
ต่อมานายชวน หยิบยกตัวเลข 7,520 คือชีวิตที่เสียไปในภาคใต้ จากเหตุความไม่สงบ ระหว่างปี 2547-2566 เพราะไม่ว่าพูดถึงงบประมาณเท่าใดก็ตาม มีค่าไม่เท่าชีวิตคนหนึ่งคน ในวันที่ 22 ส.ค. 2566 วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับโปรดเกล้าฯ ต่อมาในวันที่ 28 ส.ค. 2566 มีเหตุวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อาจไม่เป็นข่าวทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรวจดูนโยบายของรัฐบาล ทั้งหมด 14 หน้า ไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้เลย เป็นครั้งแรกนับแต่ 2548 เป็นต้นมา ที่ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ไม่ถูกพูดถึงในนโยบายรัฐบาล คงมีอยู่ในภาคผนวก ซึ่งลอกคำจากยุทธศาสตร์ชาติมาลงไว้ แม้จะระบุคำว่านิติธรรมไว้หลายแห่ง แต่ไม่มีความอบอุ่นขึ้น หากไม่เห็นข้อมูลชัดเจนว่าคิดจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นอย่างไร
นายชวน ยังกล่าวถึง วันที่ 8 เม.ย. 2544 เป็นจุดเริ่มต้นนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้โดยการละเมิดหลักนิติธรรม เกิดกระบวนการ ‘จัดการ’ เดือนละ 10 คน สิ่งที่ตามมาคือเกิดกระบวนการใหม่ และเมื่อได้เห็น 3 ศพในพื้นที่ภาคใต้ด้วยตาตัวเอง ก็ชัดเจนแล้วว่าความไม่สงบได้เกิดขึ้น จนกระทั่งวันที่ 4 ม.ค. 2547 มีเหตุปล้นค่ายปิเหล็ง สร้างความสูญเสียชีวิตมหาศาล มีเพียงอาชีพแพทย์และนักการเมืองที่ไม่สูญเสีย เป็นผลจากการขาดหลักธรรมาภิบาล
ทำให้น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่าผู้อภิปราย พูดจาส่อเสียด ไม่อยู่ในประเด็น การพูดเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว 20 ปี ซ้ำไปมา ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้อภิปรายพูดเช่นนี้
จากนั้นนายชวน ได้อภิปรายต่อไปว่า เป็นโอกาสอันดีเมื่อได้นายกรัฐมนตรีมา อย่างน้อยที่สุด ท่านจะเข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ ท่านมาจากครอบครัวที่ดีงาม คงรู้ว่าคนที่ถูกเอาเปรียบ และเลือกปฏิบัติ นอกจากขัดต่อหลักประชาธิปไตยแล้ว ไม่ควรมองข้าม จึงขอเสนอให้ทบทวนความเสียหายแก่จังหวัดที่ถูกเลือกปฏิบัติ
นายชวน กล่าวว่า คำแนะนำที่ดีที่สุดในช่วงวิกฤต คือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่า ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ การแก้ปัญหาด้วยวิธีการนอกกฎหมาย อาจจะสะใจคนบางคน แต่เป็นที่มาของปัญหา ไม่ควรให้ฝ่ายบริหารมาตัดสินเอง เป็นการละเมิดหลักนิติธรรม ที่เขียนไว้ในนโยบายหลายช่วงตอน แต่เป็นห่วงว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หากเราไม่รู้เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น
“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้ พัฒนาในพื้นที่ แล้วเข้าใจในพื้นที่ ในที่สุดผมเชื่อว่า ถ้าเราปฏิบัติตามแนวนี้ จะคลี่คลายปัญหาได้ ถ้าท่านนายกฯ ตั้งใจทำ ให้กำลังใจสำหรับทุกคนที่ทำงานเพื่อส่วนรวม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แล้วท่านนายกฯ จะปลอดภัยเมื่ออยู่ครบ 4 ปี หรือไม่ครบก็ตาม โดยไม่ต้องติดคุก อันเกิดจากทุจริต ไม่ไปอยู่ในกลุ่มโคตรโกง โกงทั้งโคตร ขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จ” นายชวน กล่าวทิ้งท้าย