มูลนิธิการกุศลและสถาบันสังคมวิทยานานาชาติเคียฟ ของยูเครน ได้ดำเนินการทำผลสำรวจตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมถึง 17 กรกฎาคม โดยเป็นการสัมภาษณ์แบบเห็นหน้ากับประชาชนหลายพันคนทั่วประเทศ ซึ่งสรุปออกมาได้ว่า 78 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนยูเครนวัยผู้ใหญ่มองว่า ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ต่อปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศ
ทั้งนี้ หากจำแนกเป็นช่วงกลุ่มอายุจะพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 81 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า เซเลนสกีต้องรับผิดชอบต่อการทุจริตของรัฐบาล, ส่วนกลุ่มที่อายุ 17 -29 ปี ก็มีความเห็นเดียวกันนี้ที่จำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มรวมเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยว่า เซเลนสกีต้องมารับผิดชอบ
ด้านนักการทูตที่ไม่เปิดเผยนามรายหนึ่ง กล่าวกับโพลิติโก สื่อการเมืองของสหรัฐว่า ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการรุกทางทหารของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ยูเครนได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลกมาโดยตลอด แต่เมื่อมีปฏิบัติการพิเศษเกิดขึ้น ยูเครนก็ได้รับการขนานนามว่า เป็นป้อมปราการแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย เพื่อให้สหรัฐและพันธมิตรนาโต สามารถระดมการสนับสนุนจากสาธารณะ เข้าไปช่วยเหลือยูเครนได้ในจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดี การคอร์รัปชั่นของยูเครน ยังคงเป็นข้อกังวล และยังคงเป็นข้อขัดขวาง สำหรับการเสนอตัวเข้าร่วมเป็นสมาชิกแห่งสหภาพยุโรป
ในปี 2021 สมาคมนักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ได้เปิดเผยเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เซเลนสกีและพันธมิตรทางธุรกิจของเขา ได้จัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ฟุ่มเฟือย ในใจกลางกรุงลอนดอนของอังกฤษ นอกจากนี้ เซเลนสกียังได้โอนหุ้นของเขาในบริษัทแห่งหนึ่งไปให้ผู้ช่วย ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2019 และเซเลนสกียังใช้บัญชีในต่างประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงภาษีด้วย
ขณะนี้ เซเลนสกีได้พยายามกวาดล้างเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต เช่นในโครงการยักยอกที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเหตุการณ์ล่าสุดในเดือนที่ผ่านมา เซเลนสกีไล่นายอเล็กซีย์ เรซนิคอฟ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมออก เพราะถูกกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อเสบียงทหารในราคาที่สูงเกินจริง แต่รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ที่จัดว่าใกล้ชิดกับเซเลนสกีด้วยนั้น ก็มีคดีที่กำลังถูกสอบสวน ช่วงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งก่อนหน้าเช่นกัน