13 ก.ย. 2566 – ที่สำนักงานกพ. ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดน นายพิชิต ไชยมงคล นายสอและ กูมุดา นายภิมะ สิทธิ์ประเสริฐ ยื่นหนังสือ เรื่อง เร่งสร้างความยุติธรรม ด้วยการนำตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าคุก ถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ
โดยเนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า ภายหลังที่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมไทย หลังจากที่หนีคดีไปกว่า 15 ปี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงวันนี้ผ่านไปกว่า 23 วันกลับปรากฏว่า น.ช.เด็ดขาด ทักษิณ ชินวัตร ได้อ้างว่าป่วยและมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น
ประชาชนคนไทยเชื่อว่า น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ป่วยจริง เนื่องจากสงสัยในพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามช่วยกันปกปิดอาการป่วยที่แท้จริง ของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร และใช้สิทธิของผู้ต้องขังมาปิดปากประชาชนคนไทย ทั้งมีลักษณะใช้เอกสิทธิ์พิเศษที่มอบให้เฉพาะ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างกฎระเบียบของราชทัณฑ์ที่ผู้ต้องขังอื่นไม่สามารถใช้ได้ ในการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว
ทั้งนี้ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยและท่าน สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค ก็ประกาศเป็นรัฐบาลที่จะสร้างความสมานฉันท์ปรองดองของคนในชาติ ให้เป็นวาระเร่งด่วน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เห็นว่า การจะสร้างความสมานฉันท์ได้อย่างแท้จริง ประชาชนควรได้รับความเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรมเสียก่อน อีกทั้งรัฐบาลของท่านก็ประกาศในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่าจะเร่งฟื้นฟูหลักนิติธรรมของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมแก่ประชาชนทุกคน
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลของท่านที่ประกาศไว้ว่าจะเข้ามาบริหารประเทศให้เดินหน้าสู่ความ สมานฉันท์ปรองดองโดยอาศัยหลัก นิติรัฐ นิติธรรม ให้มีความเท่าเทียมและยุติธรรมกับประชาชนคนไทยทุกคน รวมทั้งการดำรงค์ไว้ซึ่งความเป็นรัฐที่ยึดหลักกฎหมายบ้านเมืองมากกว่าการเลือกปฏิบัติแก่นักโทษคนใดคนหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ
เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดำเนินการเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรม นิติรัฐ และหลักคุณธรรมในการบริหารประเทศ ดังนี้
1. เร่งดำเนินการสร้างความยุติธรรมและทำให้กฎหมายมีความเท่าเทียมกันด้วยการสั่งการให้ นำตัวนักโทษเด็ดขาด คือ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าเรือนจำตามคำพิพากษาอันเป็นที่สุด และการขออภัยโทษที่ยังคงโทษต้องขังเด็ดขาดอีกเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งก็เท่ากับว่า รัฐบาลภายการนำของท่านต้องไม่เลือกปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษแก่ น.ช.เด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร
2. เร่งนำตัวผู้ต้องหาการเมืองอื่นที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมไทย
3. ให้ดำเนินการ ไต่สวน ตรวจสอบ และลงโทษ ข้าราการที่เกี่ยวข้องในการเอื้อประโยชน์ ในลักษณะเร่งรีบผิดสังเกตุ ในการร่วมกันนำตัวนักโทษเด็ดขาด น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาจากเรือนจำ เพื่อนำตัวมาไว้ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่มีลักษณะการสมคบคิดหรือประพฤติมิชอบตามระเบียบราชทัณฑ์ตามที่ประชาชนได้มองเห็น
จึงเรียนมาเพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน
จากนั้นนายพิชิต กล่าวว่า วันนี้เป็นตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งเราได้ติดตามกรณี นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษหนีคดี ที่เข้ามารับโทษในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา วันนี้ถือว่าเป็นวันประชุมครม. นัดแรก ของรัฐบาลนายเศรษฐา จะปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีของนักโทษทักษิณไม่ได้ แม้ความสัมพันธ์ของนายทักษิณกับพรรคเพื่อไทยจะมีความสนิทชิดเชื้อกัน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลจะบริหารประเทศได้อย่างที่นายเศรษฐาประกาศ ว่า จะยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม นั้นกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับความเท่าเทียมกันในสังคมไทย