คำประกาศของคณะรัฐมนตรีที่มีมติแต่งตั้ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองนายกฯคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ” เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกติกาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเกมของเพื่อไทยที่อาจทำให้พรรคก้าวไกลกระอักเลือดกับกระดานการเมืองครั้งนี้
สำหรับมติตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ” ที่ออกมาถือเป็นการดับฝันครั้งที่สอง” ของพรรคก้าวไกล หลังจากก่อนหน้านี้ต้องอกหักจากการที่รัฐบาลยืนยันไม่แก้รัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
มาในครั้งนี้ก้าวไกล และชาวด้อมส้ม รวมถึงภาคประชาชนใกลุ่มสภาประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ไอลอว์ต้องฝันสลายเป็นครั้งที่สอง หลังจากก่อนหน้านี้แอบคิดไปไกลว่า ครม.นัดแรกจะมีมติให้รัฐบาลเร่งดำเนินการทำประชามติตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เพื่อนับหนึ่งสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมาสะดุดกับเกมเตะถ่วงของรัฐบาลจากการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติที่มีนายภูมิธรรมเป็นแม่ทัพใหญ่
ทั้งนี้เมื่อพลิกดูสาระสำคัญที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนว่า จะยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ และใช้เวทีรัฐสภาหารือรูปแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน”
เมื่อถอดรหัสแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมที่นายกรัฐมนตรีแถลงอาจทำให้เห็นภาพกว้างว่า ทุก ๆ ถ้อยคำเปรียบเสมือนหนามทิ่มแทงเพื่อตอกย้ำให้พรรคก้าวไกลรับรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจยังเป็นเรื่องยาวไกล
1.นายเศรษฐาบอกว่า รัฐบาลจะยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ สำหรับกรณีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 กรณีพิจารณาคำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เสนอญัตติ โดยระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน และ รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดังนั้นขั้นตอนการทำประชามติฉบับใหม่ถึง 2 ครั้ง คือ 1.ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ2.เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากพิจารณาในกระบวนการดังกล่าวเชื่อรัฐบาลต้องใช้เวลาไม่ต่ำว่า 2 ปีจึงจะจบสิ้นทุกกระบวนความ ซึ่งก่อนหน้านี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทีมกฎหมายของพรรคฯ ยังเคยออกมาระบุว่า กระบวนการทำประชามติ และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบบัใหม่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี