วันที่ 15 ก.ย.66 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ( บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยให้สัมภาษณ์พิเศษ ไทยพีบีเอส ระบุว่า หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทางคณะกรรมการได้หารือกันถึงกระแสข่าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด เกี่ยวกับการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการต่อสัมปทานของบอร์ดชุดเดิม ที่มีรายงานผ่านสื่อมวลชน ว่า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดด้วย
โดยกรณีสำนวนที่นำเข้าสู่ ป.ป.ช. นั้น ก่อนหน้านี้ มีผู้ร้องเรียนว่า การทำสัญญาระหว่างกรุงเทพฯและ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีข้อพิรุธไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งวันนี้ คณะกรรมการรับทราบจากข้อมูลสาธารณะ และได้สอบถามในที่ประชุมทราบว่า ทาง ป.ป.ช. ยังไม่ได้แจ้งเป็นทางการถึงมติที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มาให้บริษัท กรุงเทพธนาคม รับทราบ
แต่แนวทางของทางบริษัท กรุงเทพธนาคม คือพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ซึ่งหากพนักงานอัยการ หรือ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต้องการเอกสาร ต้องการพยานหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม ในฐานะที่บริษัท ปรากฎชื่อตามรายงานของสื่อว่า โดนชี้มูลความผิดด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ระบุว่า ผมคิดว่ากรุงเทพธนาคม เราไม่มีข้อกังวลสงสัยใดๆ พร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติเต็มที่ แต่ก็มีประเด็นที่หากอนาคตเราได้รับหนังสือเป็นทางการแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่เราสามารถนำไปแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมให้ศาลปกครองสูงสุด ในอีกคดีที่ บีทีเอส ฟ้องทวงหนี้เราอยู่ กว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งเราได้แจ้งศาลปกครองสูงสุดไปแล้วก่อนหน้านี้ต่อสัญญาที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นระหว่าง กรุงเทพธนาคม และ บีทีเอส และหากได้รับเอกสาร จาก ป.ป.ช. ก็จะใช้ประกอบการพิจารณายื่นต่อศาลปกครองสูงสุดหลังจากนี้ ว่า อาจจะกระทบความสมบูรณ์ของสัญญาหรือไม่ซึ่งต้องรอความเห็นของศาลปกครองสูงสุด และข้อมูลส่วนนี้จะเข้าไปรวมในสำนวนได้
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ยังระบุถึงความเป็นไปได้ในการสู้คดีในศาลปกครองสูงสุดว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ผมยึดหลักกฎหมายทั่วไปว่า ถ้าสัญญาความผูกพันระหว่างในกรณีเป็นไปอย่างถูกต้องเรียบร้อย ไม่มีความเป็นโมฆะ ความผูกพันก็เกิดขึ้นตามนั้นในการปฏิบัติตามสัญญา
แต่ว่าถ้าสัญญาระหว่าง “นาย ก.” และ “นาย ข.” มีข้อพิรุธข้อบกพร่อง มีข้อทักท้วงขึ้นมาว่า เป็นโมฆะ โมฆียะ ด้วยเหตุใดก็ต้องทบทวนกัน แต่ต้องดูว่าข้อสัญญาที่ไม่สมบูรณ์นั้น จะเป็นไปอย่างไร