เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 โพสต์ภาพ พร้อมข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก “พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน” ระบุว่า “การแถลงผลการสืบสวนสอบสวน…กับการสาวไส้ให้กากิน” สองเรื่องนี้มีความหมายใกล้เคียงกันมากจนแทบจะแยกไม่ออก !!! “สาวไส้ให้กากิน” หมายความว่า การนำความลับของฝ่ายตน ไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้ เป็นการประจานตนหรือพรรคพวกของตน ( พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) ส่วนการแถลงผลการสืบสวนสอบสวน เป็นเรื่องของการแถลงข่าวให้ข้อมูลในการปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนให้สังคมได้รับรู้เท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี ไม่เสียความยุติธรรม และไม่กระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล
ข่าวที่น่าสนใจ
ซึ่งโดยปกติถ้าอยู่ในชั้น “สืบสวน” (ยังไม่แน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นหรือไม่) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็อาจจะให้ข่าวต่อสาธารณะได้ค่อนข้างมาก แต่เมื่อใดที่เข้าสู่ชั้น “สอบสวน” (มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว) การให้ข่าวก็จะถูกกำจัดลงเพราะเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมแล้ว(เมื่อมีการสอบสวน) ใครอยู่ในที่เกิดเหตุบ้าง? ใครทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร? ใครให้การอย่างไร? วงจรปิดจับภาพอะไรได้บ้าง? ได้อะไรมาเป็นพยานหลักฐานสำคัญในทางคดี ? วันละสามเวลาหลังอาหารทนายความฝ่ายผู้ต้องหาคงนั่งยิ้มกริ่ม ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก จะให้ขอบคุณกันไปถึงไหน กระผมกำลังจะบอกว่ามันจะเกิดความเสียหายต่อรูปคดี เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย
ปรมาจารย์งานสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นปูชนียบุคคลในงานด้านนี้ ตั้งแต่อดีตจะถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ขออ้างอิงพลตำรวจเอกประยูร โกมารกุล ณ นคร ซึ่งกระผมได้ติดสอยห้อยตามทำคดีสำคัญๆ กับท่านมาแทบจะนับไม่ถ้วน ไม่เคยเลยที่ท่านจะปริปากเอาเรื่องในสำนวนการสอบสวนไปพูดเป็นฉากๆ ..”เรื่องนี้เป็นความลับในสำนวนบอกได้เพียงว่าเรามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด..(จบ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง