อัปเดต พายุไซโคลนถล่มลิเบีย จนเขื่อน 2 แห่งในเมืองเดอร์นาแตก เกิด "น้ำท่วม" หนักในหลายพื้นที่ ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 11,000 รายแล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
หลังจากที่พายุไซโคลนดาเนียล พัดถล่มเข้าทางตะวันออกเฉียงเหนือของลิเบียเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา จนทำให้เกิดฝนตกหนัก และพายุฝนฟ้าคะนองในเมืองต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
โดยเมืองเดอร์นาได้รับผลกระทบหนักที่สุด เขื่อน 2 แห่งพังลง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยข้อมูลของสภาเสี้ยววงเดือนแดงลิเบีย ยอดผู้เสียชีวิตในขณะนี้เกินกว่า 11,000 รายแล้ว
ด้านสำนักงานลิเบียขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้โพสต์ลง X (ทวิตเตอร์เก่า) ว่า ผู้คนเกือบ 40,000 ราย ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น โดยเฉพาะที่เมืองเดอร์นาที่มีผู้อพยพอย่างน้อย 30,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงการขาดแคลนน้ำดื่มและเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ในทุกเมืองที่ได้รับผลกระทบ การสื่อสารและการจัดหาพลังงานก็หยุดชะงัก สถานการณ์ในเดอร์นานั้น ถือว่าลำบากที่สุด โดยมีสถานพยาบาลเพียงแห่งเดียว แต่ก็ขาดแคลนทั้งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และยารักษาโรค โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและยาสำหรับโรคเรื้อรัง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิด “น้ำท่วม” ครั้งนี้ ทางสภาได้เรียกร้องให้อัยการระดับสูง เปิดการสอบสวนเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และดำเนินคดีกับใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่า กระทำข้อผิดพลาดหรือมีความประมาทเลินเล่อ ที่นำไปสู่การพังทลายของเขื่อน จนเป็นสาเหตุหลักแห่งการสูญเสีย
ซึ่งนายอนัส เอล-โกมาติ นักวิเคราะห์จากสถาบันซาเดก ได้กล่าวว่า หลายปีของการละเลยเขื่อนในเมืองเดอร์นา และความล้มเหลวในการปล่อยแรงดันในเขื่อน ในขณะที่พายุพัดถล่ม สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับระเบิดเวลาที่กำลังคุกรุ่นอยู่ หน่วยงานมีการคำนวณที่ผิด และขาดความรับผิดชอบในการปกป้องพลเมืองของตนเอง
โกมาติกล่าวอีกว่า ก่อนที่ลิเบียจะเกิดการแบ่งแยก ในช่วงที่มูอัมมาร์ กัดดาฟีปกครอง ก่อนที่จะถูกลอบสังหารนั้น กัดดาฟีก็ละเลยเมืองเดอร์นามานาน เพราะ กัดดาฟีมองว่า เดอร์นาเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้าน ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเสื่อมโทรมลง
ดังนั้น การเรียกโศกนาฏกรรมครั้งนี้ว่า เป็นเพียงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็ถือเป็นการพูดที่ดูจะน้อยเกินไป ขนาดของความเสียหายที่พบในเดอร์นา เป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของทางการ
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นาย อับเดล-วานิส อัสชูร์ นักวิชาการชาวลิเบีย ก็ได้เคยออกคำเตือนในวารสารการศึกษา ถึงหายนะที่จะเกิดกับเดอร์นา หากทางการล้มเหลวในการรักษาเขื่อน 2 แห่ง ที่มีความจุร่วมกัน 24 ล้านลูกบาศก์เมตรเอาไว้
แต่ถึงแม้จะมีคำเตือนดังกล่าวออกมา ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ทั้ง ๆ ที่การบำรุงรักษาก็รวมอยู่ในงบประมาณของรัฐแล้วก็ตาม
Officemate TH : Horeca (B2B Pure Horeca)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง