จากกรณีที่หลายฝ่ายมีการร้องขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล (กสม.) กรณีนำเด็กอายุ 10 ขวบ 2 คนมาขึ้นเวทีร่วมปราศรัยที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้น
ต่อมาทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมฯ ได้มีหนังสือตอบกลับต่อหนังสือของ นาย ณัฐนันท์ กัลยาศิริ, นาย พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ และนางรัดเกล้า สุวรรณคีรี กรณีเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงฯ ในวันที่ 11 ส.ค. 2566 เพื่อให้พิจารณาประเด็นที่มีพรรคการเมืองหนึ่ง นำเด็กอายุ 10 ไปขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมืองเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2566
โดยทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับ ว่าทางกระทรวงพิจารณาแล้วว่าการนำเด็กอายุ 10 ขวบ มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ แต่ต้องปราศจากการชักจูง ครอบงำ หรือการถูกแสวงประโยชน์จากฝ่ายการเมือง
ขณะที่การใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราศรัยทางการเมือง ถือว่าเป็น “การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก” ในรูปแบบหนึ่ง
ส่วนข้อเสนอของทั้งสามบุคคลที่ขอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อเพิ่มข้อความในการปกป้องเด็กจากการถูกแสวงประโยชน์จากพรรคการเมือง หรือกลุ่มบุคคลที่มุ่งใช้เด็กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น ทางกระทรวงจะได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กในการประชุมครั้งต่อไป
โดยเนื้อหาของหนังสือตอบกลับมีดังนี้
(1) ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการว่าเด็กมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ต้องกระทำโดยอิสระเป็นตัวของตนเอง ไม่ใช่ถูกชักจูงมาร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพื่อสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดในเวทีกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้น จึงเห็นว่าการชักจูงเด็กมามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะของการครอบงำหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์อาจเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ดังนั้น เด็กที่แสดงความเห็นทางการเมือง จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 26(3) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
(2) กรณีการกระทำของเด็กที่ไม่สามารถมีวิจารณญาณและไม่สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผลได้ไปพูดปราศรัยบนเวทีเกี่ยวกับความคิดเห็นด้านการเมืองของพรรคการเมืองด้วยการครอบงำของกลุ่มบุคคลโดยในลักษณะดังกล่าวเห็นได้ว่าเด็กอาจเป็นผู้ได้รับความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายทางด้านจิตใจ ด้านความวิตกกังวลและความเครียด หรืออาจถูกปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งถือได้ว่าการนำเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองขึ้นเวทีปราศรัย เป็นการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น กรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ในการสืบเสาะและแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและให้คำแนะนำเพื่อชี้แนะแนวทางกับผู้ปกครองของเด็กเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูและสั่งสอนเด็กที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล พ.ศ. 2549
(3) กรณีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 ด้วยการเพิ่มข้อความในข้อ 4 ของกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนี้ “เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจตกเป็นเครื่องมือจากการแสวงผลประโยชน์ทางการเมือง” กรณีดังกล่าว กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการ ฯ จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบ นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน