นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อคืนวันที่ 26 สิงหาคม ระบุว่า แม้ว่าจะถูกกลบไปด้วยข่าวการทดสอบถุงคลุมหัวที่ดินแดนปากน้ำโพ แต่เชื่อว่าพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) สายตาทุกคู่คงจับจ้องไปที่การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า จะไปอย่างไรกันต่อ นี่แค่ยังไม่ถึงวันจริง ก็เริ่มมีข่าวจากฝ่ายนโยบายสายพิราบ ที่ออกมากระดี๊กระด๊าว่าจะผ่อนคลายโน่นนี่นั่น โดยให้เหตุผลว่ากราฟแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศเริ่มลดลงต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว ทั้งที่ยังเป็นตัวเลขที่เกินขีดความสามารถตามศักยภาพของภาคการแพทย์ที่ควรจะเป็นอยู่อีกหลายเท่าตัว
เย็นไว้โยม หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ครั้งออก พรก.ฯ ฉบับที่ 23 เพื่อผ่อนคลายในช่วงปลายเดือนพ.ค. แน่นอนพวกสายเหยี่ยวตอนนั้นส่งเสียงค้าน แต่มันคงไปไม่ถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ผ่านไปสองเดือนเศษสถานการณ์บานปลายเหมือนมะเร็งระยะลุกลาม จนต้องออก พรก.ฯ ในเวลาไล่เลี่ยกันถึงอีก 5 ฉบับกว่าจะเริ่มล็อคคอโควิดให้พอนิ่งหายพยศลงได้บ้าง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า อย่าลืมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะผ่อนคลายเร็วหรือช้าเพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มันสำคัญตรงฝ่ายมีหน้าที่บังคับใช้ พรก. จะใส่ใจทำให้มาตรการสวยหรูที่ประกาศออกมาเป็นจริงเป็นจังได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นภาระหนักอึ้งคงไม่พ้นบ่าของบุคลากรด่านหน้าทุกสาขาอาชีพที่กรำศึกกันมาต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงการชี้ชะตาระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นซึ่งไม่ใช่โควิด ที่นับวันจะหดแคบด้านคุณภาพลงไปมากเข้าทุกที เราคงต้องทนอยู่กับโควิดแบบนี้กันไปอีกนาน หรือเราอยากจะอยู่กันแบบใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เพื่อรอลุ้นตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิตที่มีคนมารายงานให้ฟังรายวัน มีอีกตัวเลขหนึ่งที่ยังไม่เคยสำรวจกันจริงจังและยังไม่ค่อยพูดถึงกันนัก คือกลุ่มผู้ป่วยที่รอดกลับมาแต่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตทั้งทางร่างกายและทางจิตใจเหมือนดังเดิมได้
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ผู้ว่าปูอาจเป็นตัวอย่างของรายที่โชคดีแต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะไปตรากตรำงานหนักที่สมุทรสาคร ผู้ป่วยชายอายุ 62 ปีในรูปเอกซเรย์ชุดแรก ต้องเรียกว่าโกงตายหนักกว่าพ่อเมืองสาครหลายเท่า ที่ปอดฟื้นกลับมาได้หลังใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม (เอ็คโม) นานกว่าสองเดือน แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนที่จะฟื้นฟูกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งคงจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ทั้งหมด ผิดกับผู้ป่วยอีกรายในเอกซเรย์ชุดที่สอง ที่เนื้อปอดถูกทำลายไปมากในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แล้วถูกแทนที่ด้วยพังผืดอย่างหนาแน่นพอกับเนื้อปอดส่วนดีที่ยังเหลืออยู่ ถึงแม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็อาจจะถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่อไปเป็นการถาวร
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในครั้งที่จะเพิ่มมาตรการ ฝ่ายนโยบายใช้คำว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเข้มงวด ดังนั้นในโอกาสภายหน้าที่จะผ่อนคลายมาตรการ ตนอยากได้ยินเช่นเดียวกันว่า ผ่อนคลายทีละน้อยอย่างเข้มงวด พร้อมกำหนดกติกาตัวชี้วัดที่ชัดเจนให้สังคมรับทราบและร่วมกันติดตามผล และหากไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ คำขอโทษพร้อมข้อเสนอแนวทางแก้ไขใหม่อย่างทันท่วงที เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่น่าจะยอมรับและให้อภัยได้ ดีกว่าการดื้อรั้นเอาสีข้างเข้าถู ยื้อจนระฆังหมดยกแบบรอไปตาย (กันหมด) เอาดาบหน้า #เดือนสิงหาอย่าออกบ้าน