เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ 107/2552, 2038/2551, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366 – 368/2557 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน
คดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 81- 83/2565 ประชุมใหญ่ ให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และให้พิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีของผู้ร้องทั้งสองต่อไป ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ทำสัญญา ลงวันที่ 9 พฤจิกายน 2533 กับผู้คัดค้านตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ของผู้ร้องที่ 2 มีกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่สัญญามีผลบังคับ สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญา ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่การก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ร้องทั้งสองจึงมีหนังสือลงวันที่ 27 มกราคม 2541 บอกเลิกสัญญากับผู้คัดค้าน
โดยผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2541 ซึ่งในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย เมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องเสนอภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุ แห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น และเมื่อผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ผู้คัดค้านจึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญโตตุลาการภายในวันที่ 30 มกราคม 2542 แต่ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าว ในระหว่างนั้นมีการตรา พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาใช้บังคับแทน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แต่ก็มิได้กำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเอาไว้ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง การที่ผู้คัดค้านนำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 อันเป็น
กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว