ประชาธิปัตย์ฮึดไม่ขึ้น หลัง “จุรินทร์” ออกโรงซัดรัฐบาลไม่จริงใจยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้อนอดีตปชป.ลืมมองใครเป็นต้นเหตุ ให้เพื่อไทย-ก้าวไกลบินสูง ชนะเลือกตั้ง

ส่องบทบาทประชาธิปัตย์ฮึดไม่ขึ้นหลัง “จุรินทร์” ออกโรงซัดรัฐบาลไม่จริงใจยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมย้อนอดีต ปชป.ลืมมองใครเป็นต้นเหตุให้เพื่อไทย-ก้าวไกลบินสูงชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่ตนเองแทบสูญพันธุ์ ซัด ปชป.ใช่หรือไม่เป็นหัวหอกยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ

การออกมาเดินหน้าสับแหลกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กรณีออกมาเตือนความจำรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องทำเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลจะโยนให้เป็นเรื่องสภาไม่ได้ โดยเฉพาะการมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางจัดทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมองว่าเป็นการยื้อเวลา

 

น่าสนใจยิ่งนักกับการจงใจโยนระเบิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญใส่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมโอ่ประโคมว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่แตะ หมวด 1 หมวด 2 แต่นายจุรินทร์ อาจหลงลืมอดีตไปว่า ตนเองและพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนในการทำให้เกิดความหายนะทางการเมือง โดยเฉพาะการเป็นหัวหอกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมาเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ โดนทึกทักไปเองว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่หากเปลี่ยนกฎเกณฑ์มาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบน่าได้ สส.เป็นกอบเป็นกำมากกว่าจะไปพึ่งคะแนนจาก สส.ปัดเศษจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ ว่ากันว่าเกิดจากการสมยอมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐที่ตอนนั้นมีกระแสข่าวว่า หากมีการผลักดันสำเร็จพรรคเพื่อไทยจะเปิดทางให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าจากดีลลับระหว่างลุงป้อมกับนายทักษิณ ซึ่งตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะมองออกว่าเป็นการหลงเหลี่ยมเพื่อไทยจากกติกาบัตรสองใบที่เอื้อประโยชน์กับพรรคใหญ่มากกว่า แต่สุดท้ายต้องจำใจยอมทำตามพี่ใหญ่

แต่ที่น่าสนใจคือ นายจุรินทร์ และพรรคประชาธิปัตย์กลับร่วมวงด้วย โดยเป็นเจ้าของร่างยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 81 มาตรา 93 ให้มีบทบัญญัติชัดเจนว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องเป็นระบบบัตรสองใบคือระบบบัญชีรายชื่อ 100 คนและแบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 400 คน ซึ่งในตอนนั้นประชาธิปัตย์อ้างว่า เป้าหมายหลักของการแก้ไขเพียงประเด็นเดียว คือ การรื้อระบบเลือกตั้ง สส. โดยให้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วหวนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540

ข่าวที่น่าสนใจ

จากนั้นในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 472 ต่อ 33 งดออกเสียง 187 สนับสนุนการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ นั่นทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา กระทั่งในวันที่ 21 พ.ย. 64 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 เพื่อประกาศให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบแทนการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว

 

สำหรับสาระของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 มีเนื้อหาสำคัญดังนี้ มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 150 คน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง

ดังนั้นหากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 400 คน ก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564

 

ภายหลังการประกาศใช้ รธน.ฉบับแก้ไขดังกล่าว นายจุรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขหรือฉบับใหม่นี้ ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้น เพราะการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียวนั้น ต้องเอาคนกับพรรคมามัดรวมกัน ประชาชนไม่สามารถแยกได้ว่าต้องการเลือกคนแต่ไม่เลือกพรรค หรือเลือกพรรคแต่ไม่เลือกคน

ผลพวงการหลับหูหลับตาของประชาธิปัตย์ทำให้ทุกอย่างไปเข้าทางพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย โดยเฉพาะข้อจำกัดในเรื่อง สส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ก่อนหน้านี้หากเป็นการใช้บัตรใบเดียว พรรคที่ได้ สส.เขตเกินกว่าได้ สส.พึงมีก็จะไม่ได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงทำให้พรรคขนาดกลาง และขนาดเล็กอยู่ในฐานะได้เปรียบพรรคเพื่อไทย

 

อย่างไรก็ตามเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นระบบบัตรสองใบ แยกกันชัดเจน ระหว่างการลงคะแนนให้กับ สส.เขต และอีกใบ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งกติกาใหม่เอื้อประโยชน์กับเพื่อไทยอย่างมาก จึงทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก้าวไกล และเพื่อไทยได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐได้สส.ปาร์ตีลิสต์เพียงหยิบมือ ส่วนประชาธิปัตย์ได้มาแค่ 3 เก้าอี้เท่านั้น และนี่คือบทเรียนอันเจ็บแสบของนายจุรินทร์ และพรรคประชาธิปัตย์มาจนถึงทุกวันนี้…?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"แกนนำภูมิใจไทย" ผนึกกำลังหาเสียง หนุน "ไสว" ชิงเก้าอี้ เลือกตั้งซ่อมสส.นครศรีฯ มั่นใจผลงานพรรค
"ดีเอสไอ" จ่อเรียกสอบ 40 วิศวกร คดีตึกสตง.ถล่ม
"ฉก.ลาดหญ้า" ยันเหตุปะทะในประเทศเมียนมา ยังไม่มีผลกระทบชายแดนไทย
บางจาก ศรีราชา และ GISTDA ผนึกกำลังกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ร่วมสร้างอนาคต นกกาฮัง และ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
“กรมอุตุฯ” เตือนรับมือ "พายุฤดูร้อน" ฉบับ 2 ถล่มไทยตอนบน 26 เม.ย.- 1 พ.ค.นี้
“ดร.เฉลิมชัย” ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษา สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงกร่อยเค็ม ตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด แก้ปัญหาให้ประชาชน 15 หมู่บ้าน กว่า 7,200 คน มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี
"ผอ.สปภ." เผย ตึกสตง.ถล่ม ลดซากเหลือ 7 เมตร จนท.ตัดเหล็กขนย้ายได้เร็วขึ้น คาดเสร็จสิ้นเดือนเม.ย.นี้
แฉกลโกงออนไลน์! ใช้ชื่อ ‘ธนินท์’ ลวงซ้ำ – ซีพีเอาผิดไม่เว้น
DITP โชว์ผลงานจัดกิจกรรมส่งออก 7 เดือน สร้างรายได้เข้าประเทศ 36,921 ล้าน ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ 42,409 ราย
"กระทรวงยุติธรรม" เปิดตัวโครงการ "รวมพลังอาสาสมัครราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม"

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น