เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่27 ส.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุมศบค.โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมพิจารณาเร่งรัดการฉีดวัคซีนตามลำดับความเร่งด่วนเน้นย้ำให้กับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงโดยมีการฉีดวัคซีน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข พนักงานขนส่งสาธารณะ ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรองรับการเปิดเรียน การสอน รวมถึงที่ประชุมยังมีการพูดถึงอาชีพเสี่ยงที่อาจจะต้องให้บริการลูกค้า เช่น พนักงานตัดผมหรือพนักงานส่งอาหาร เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขณะเดียวกันมาตรการที่จะช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การสร้างโอกาสให้เข้าถึงชุดตรวจ ATK โดยจะต้องเน้นย้ำในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ส่วนชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการลงนามในวันเดียวกันนี้ และบริษัทจะสามารถจัดส่งให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ก็จะทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ในราคาที่เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ในร้านอาหารและสถานประกอบการได้
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค.ยังหารือเรื่องการเปิดโรงเรียนในส่วนของโรงเรียนที่เป็นลักษณะโรงเรียนกินนอน มีนักเรียนพักประจำ และการพูดคุยในเรื่องการจัดหาวัคซีน ทั้งนี้ ผอ.ศบค.ชื่นชมและขอบคุณ โดยมีการรายงานความคืบหน้าวัคซีนที่ผลิต โดยนักวิจัยไทย ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงาน ความคืบหน้าว่าตอนนี้มีวัคซีนถึง 4 ชนิดด้วยกันที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและเริ่มทดลองในมนุษย์ ทั้งในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) และภาคเอกชนซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และเน้นย้ำว่าถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ในการที่เราผลิตวัคซีนได้เองก็จะทำให้การป้องกันและควบคุมโรคเป็นสิ่งที่ยังยืนและประเทศไทยก็สามารถพึ่งพาตนเองได้.