กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ โครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 สนับสนุนภาคีเครือข่าย “สหภาพแรงงานปราจีนบุรี” เข้ามาเป็นกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ในการค้นหาเยาวชนนอกระบบการศึกษา อายุระหว่าง 15 – 24 ปี ในเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และชุมชนโดยรอบ จำนวน 50 คน ด้วยการสำรวจข้อมูลสาเหตุของปัญหาและความต้องการเพื่อนำไปสู่การดูแลเป็นรายกรณีและส่งต่อให้ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ให้มี “ทักษะที่หลากหลาย” (Multi skills) อาทิ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และ ทักษะวิชาการต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งรับและปรับตัวกับปัญหาเศรษฐกิจเปราะบางและการจ้างงานในอนาคต
สำหรับการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา จัดโดยหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี จะเข้ามาแนะแนวหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพเพื่อจุดประกายทางความคิดให้มี “ทักษะอาชีพเสริม” ให้สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือ ช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้จากค่าล่วงเวลา (โอที) และ สำนักงานจัดหางานจังหวัดปราจีนบุรี จะเข้ามาจัดกระบวนการ “ค้นหาศักยภาพ” เพื่อให้เยาวชนนอกระบบการศึกษาได้ค้นพบทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการ ความถนัดและต้นทุนชีวิตของตัวเอง
นอกจากนี้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี จะเข้ามาให้ความรู้ “ทักษะแรงงานสุขภาวะ” ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน หรือ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากบินทร์บุรี จะเข้ามาให้ความรู้ “ทักษะทางการเงิน” มีความสำคัญอย่างไรในการเก็บ ออมลงทุนประกอบอาชีพเสริม หรือแก้ปัญหาหนี้สิน รวมถึง “ทักษะการใช้สื่อสร้างสรรค์” เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริม หรือ เส้นทางสู่ “นักธุรกิจชุมชน” ทำอย่างไรให้สมหวัง จัดกระบวนการเรียนรู้โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี และ โรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ เป็นต้น โดยทุกทักษะที่พัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา พยายามยึดโยงกับ “อาชีพ” และ “รายได้” เพื่อนำไปสู่การบรรเทา “ปัญหาปากท้อง” เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
ทั้งนี้การพัฒนาการเรียนรู้ดังกล่าวต้องการตอบโจทย์ปัญหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่เยาวชนนอกระบบการศึกษาต้องเผชิญ อาทิ 1. “ดิสรัปชั่น” AI และ หุ่นยนต์ กำลังเข้ามาทดแทนแรงงานคน 2. “แรงงานต่างด้าว” ผู้ประกอบการนิยมจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานถูกกว่าแรงงานไทย ขณะเดียวกันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวเข้ามาทดแทนแรงงานอาวุโสที่กำลังปลดระวางไม่ทันต่อความต้องการตลาดแรงงาน 3.”ย้ายฐานการผลิต” ย่อมส่งผลต่อการจ้างงานและปัญหาว่างงานตามมา อาทิ โรงงานแห่งหนึ่งย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มี “อัตราค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่า” แต่ “ทักษะฝีมือแรงงานสูงกว่า” ย่อมเกิดปัญหาว่างงานในประเทศที่“อัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่า” แต่ “ทักษะฝีมือแรงงานต่ำกว่า” และ 4.”ผลกระทบทางเศรษฐกิจ “ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2562 – 2563 จากปัญหา “คลัสเตอร์โรงงาน” เกิดการติดเชื้อโควิด – 19 เป็นกลุ่มใหญ่จนถึงขั้นผู้ประกอบการต้องสั่งปิดโรงงาน หรือ “มาตรการล็อคดาวน์” ที่จำกัดการเดินทางของพนักงาน จึงทำให้ครอบครัวเยาวชนนอกระบบการศึกษาขาดงาน ขาดรายได้และตกงานในที่สุด หรือ ผลกระทบจาก “การแข่งขันทางธุรกิจ” ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าคล้าย ๆ กัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพลาดพลั้งทางธุรกิจ ย่อมทำให้ยอดขายหรือรายได้ของบริษัทแห่งนั้นลดลง ส่งกระทบต่อชั่วโมงทำงานล่วงเวลา (โอที) เฉลี่ย 60 บาท/ชั่วโมงของพนักงาน ได้รับรายได้น้อยลง เพราะ “โอที” นับเป็นรายได้สำคัญพอ ๆ กับรายได้ประจำจากค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 370 บาท หรือประมาณเดือนละ 9 พันกว่าบาท
สิ่งสำคัญของโครงการ กสศ. มุ่งสร้างกลไกลการทำงานเชิงพื้นที่ในการค้นหาเยาวชนนอกระบบการศึกษา ทางกลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี จึงได้ตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” ประมาณ 20 คน วางเป้าหมายค้นพบกลุ่มเป้าหมาย คิดเป็น 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่ทำงานในโรงงาน อาทิ บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ สหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย มีพนักงานประมาณ 3 พันคน หรือคิดเป็น 30 คน , บริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศ มีพนักงานประมาณ 1 พันคน หรือคิดเป็น 10 คน และ บริษัท พี.เอม.ฟูด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “ปลาสวรรค์ทาโร่” หรือ สหภาพแรงงานอาหารแห่งประเทศไทย มีพนักงานประมาณ 1 พันคน หรือคิดเป็น 10 คน พร้อมไปประสานงานความร่วมมือกับผู้นำชุมชนโดยรอบ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่วัด “พระอธิการสิริลักษณ์ ธีรวังโส” เจ้าอาวาสวัดรัตนเนตตาราม หรือ วัดล้านหอย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้กลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี เปรียบเสมือน “พ่อแม่คนที่สอง” ของเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ทำงานในโรงงานทำหน้าที่ดูแล “สิทธิการจ้างงาน” ให้ได้รับสิทธิสวัสดิการและค่าตอบแทนจากการทำงานอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อมาร่วมทำงานกับ กสศ.จะได้เข้ามาดูแล “สิทธิด้านการศึกษา” อีกทางหนึ่ง
นายธีระพงษ์ อุ่นฤดี ประธานสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย หรือ “โรงงานไฮเอร์” กล่าวถึงแนวทางการค้นหากลุ่มเป้าหมายของ “ทีมพี่เลี้ยง” เปิดสำนักงานในวันอาทิตย์เป็นสถานที่รับสมัคร พร้อมกำชับให้น้อง ๆ ไปสื่อสารต่อแบบ “ปากต่อปาก” กับเพื่อน ๆ ที่ทำงานในโรงงานให้มาสมัครกับทีมพี่เลี้ยง พร้อมเปิดช่องทางการสื่อสารภายใน “กลุ่มไลน์” ระหว่างน้อง ๆ กับทีมพี่เลี้ยงเพื่อประสานงานให้มาร่วมกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้
นายปัญญา ตลุกไธสง ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย กล่าวเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี “ปลดล็อกระบบราชการ” เพื่อเปิดโอกาสให้น้อง ๆ เยาวชนนอกระบบการศึกษาได้พัฒนาทักษะอาชีพ ในช่วงวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของพนักงานโรงงาน เพราะไม่สามารถไปเข้าร่วมฝึกอบรมได้ในช่วงวันจันทร์ – ศุกร์ ตามเวลาราชการได้ เพราะต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว จึงอยากมีพื้นที่เรียนรู้ทักษะอาชีพ ในวันอาทิตย์ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์จ้างงานในพื้นที่บางโรงงานปรับลดการให้พนักงานทำ “โอที” น้อยลง จึงควรส่งเสริมเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้ได้ใช้เวลาว่างช่วงที่ไม่มี “โอที” หรือ “หลังเลิกงาน” ให้เกิดประโยชน์จากการมีอาชีพเสริมตามความต้องการและความถนัด หรืออาจจุดประกายจนกลายเป็นอาชีพหลักในอนาคต นับเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตเยาวชนนอกระบบการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับหนึ่ง
/-/-/