เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 30 ปี DSM การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า พร้อมด้วยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานผู้ประกอบการกว่า 500 คน เข้าร่วมงาน แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันอนุรักษ์พลังงาน ลดปัญหาโลกร้อน ณ Hall 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ในโอกาสนี้ นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้ากับทิศทางพลังงานไทยในอนาคต” ระบุว่า ทิศทางพลังงานไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กระทรวงพลังงานจึงจัดทำกรอบแผนพลังงานชาติมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยมีเป้าหมายลดความเข้มของการใช้พลังงาน 30% และสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ผ่านกลยุทธ์ภาคบังคับ เช่น มาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน (EERS) มาตรการด้านภาษีในภาคขนส่ง กลยุทธ์ภาคส่งเสริม เช่น มาตรการเปลี่ยนอุปกรณ์และส่งเสริมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อดำเนินมาตรการประหยัดพลังงาน และกลยุทธ์ภาคสนับสนุน เช่น มาตรการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ Demand Side Management (DSM) ที่ กฟผ. ดำเนินการ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานของประเทศอย่างมหาศาล และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอนาคต
ด้านนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในการใช้พลังงาน ทั้งการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การเสริมสร้างทัศนคติด้านการประหยัดพลังงานแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า และส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ของการดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าผ่านกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ อุปกรณ์ อาคาร อุตสาหกรรม และอุปนิสัย เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคที่อยู่อาศัย ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 40 โครงการ สามารถกระตุ้นให้เกิดการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้ากว่า 35,600 ล้านหน่วย หรือประมาณ 1.78 แสนล้านบาท และนำไปสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศลงกว่า 19.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์