จากกรณีพรรคก้าวไกล เดินหน้าผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้สภาฯพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง หลังสมัยที่แล้วในช่วงปี 2565 เคยเสนอมาแล้วแต่ไม่ผ่านวาระ 1 ทีมข่าวท็อปนิวส์จึงได้ตรวจสอบรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉิน ฉบับพรรคก้าวไกล ก็พบว่ามีรายละเอียดสำคัญที่ต่างจาก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับ 2548 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน อาทิ
1.ฉบับพรรคก้าวไกลยังคงอำนาจของนายกฯในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่มีเงื่อนไขต้องขออนุมัติจาก ครม. ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน ที่สำคัญต้องมีแผนการณ์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุผลในการประกาศ มาตรการ และกระบวนการนำไปสู่การยุติประกาศเสนอต่อสภาฯด้วย แต่หากไม่ขอความเห็นชอบจากสภาฯ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นอันสิ้นสุดลง โดยอ้างว่าเพื่อให้ตัวแทนของประชาชนสามารถอนุญาตให้รัฐบาลใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้
ส่วนฉบับปัจจุบัน หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น นายกฯโดยความเห็นชอบของ ครม.มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ไม่ต้องเสนอแผนและขออนุมัติจากสภาฯ อีกทั้งหากไม่สามารถขอความเห็นชอบของครม.ได้ นายกฯก็มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนได้ แล้วให้ครม.เห็นชอบตามมาในสามวัน
2.ฉบับพรรคก้าวไกล การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกฯกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันประกาศ และในกรณีที่จำเป็นต้องขยายเวลา นายกฯโดยความเห็นชอบของ ครม. และต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯอีก เพื่อขยายระยะเวลาการใช้บังคับได้อีกคราวละไม่เกิน 30 วัน
ส่วนฉบับปัจจุบัน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกฯกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันประกาศ ในกรณีที่จำเป็นต้องขยายเวลา นายกฯโดยความเห็นชอบของ ครม.มีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับได้อีกคราวละไม่เกิน 3 เดือน