22 กันยายน "วันแรดโลก" วิกฤตการณ์สัตว์โลกใกล้สูญพันธุ์ ช่วยอนุรักษ์ประชากรแรด ต่อต้านการนำนอแรดมาทำเครื่องประดับ และความเชื่อผิด ๆ ที่ว่านอแรดรักษาโรคได้
ข่าวที่น่าสนใจ
จุดเริ่มต้นของ “วันแรดโลก”
- ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) แห่งแอฟริกาใต้
- จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวัน แรดโลกขึ้นมา เพื่อเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์
- และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวัน แรดโลกได้สำเร็จ จนกลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ได้แก่
1. แรดขาว (Ceratotherium simum)
- เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา
2. แรดดำ (Diceros bicornis)
- เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
3. แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis)
- พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว
- ลักษณะเด่น : ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน
4. แรดชวา (Rhinoceros sondaicus)
- พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก
- และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย
5. กระซู่ หรือแรด 2 นอ
- หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis)
- ลักษณะเด่นที่สุด : มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง
- จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
- ลักษณะเด่น : มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง
โดยกำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันแรดโลก และเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก จนเกือบจะกลายมาเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน ร่วมรณรงค์ต่อต้านการล่าเอานอแรด และตระหนักถึงความสำคัญของประชากรแรดที่กำลังลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วง
วิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด
ปัจจุบัน แรดกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกขณะ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรดใกล้สูญพันธุ์นั้นเกิดจากการ
- ตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายที่อยู่อาศัยของแรด และการล่าของมนุษย์ ที่ต้องการนำนอแรดไปขายแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ
- รวมถึงการนำนอแรดไปปรุงเป็นยา ตามความเชื่อของชาวจีนว่า นอแรดสามารถรักษาโรคได้บางโรค
- ซึ่งในความเป็นจริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของคนเลย
- ซึ่งการสำรวจการลับลอบฆ่าแรดในแอฟริกาใต้ พบว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีการลักลอบฆ่าแรด เพื่อเอานอเพิ่มสูงขึ้นกว่า 9,300 ตัว จาก 13 ตัว ในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 1,215 ตัว ในปี 2557
จากวิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีข่าวการปกป้องสัตว์สายพันธุ์นี้อย่างจริงจัง เช่น กรณีของซูดาน แรดขาวเหนือ (northern white rhino) เพศผู้วัย 42 ปี ที่คาดว่าน่าจะเป็นแรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายของโลก ในวัยชรา ที่มีความหวังในการผสมพันธุ์กับตัวเมียริบหรี่ เพราะ อสุจิอ่อนแอ
แม้จะพยายามผสมพันธุ์กันมาหลายครั้งก็ประสบความล้มเหลว ส่งผลให้ทางศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต้องออกมาตรการปกป้องคุ้มครองแบบถึงที่สุด โดยให้เจ้าหน้าที่ถือปืนคอยปกป้องดูแล 24 ชั่วโมง เพราะ เกรงว่าหากคลาดสายตา ซูดานอาจจะตกเป็นเหยื่อของนักล่าสัตว์ได้ ซึ่งหมายถึงการสูญสิ้นของสายพันธุ์แรดขาวเหนือ
การหายไปของแรดในเอเชีย
การลักลอบฆ่าแรด เพื่อเอานอนั้น พบว่า ตลาดที่มีการค้าขายใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ ประเทศเวียดนาม รวมทั้งพบว่า แรดชวาตัวสุดท้ายของเวียดนามถูกพบเป็นซากเมื่อเดือนเมษายน 2553
ขณะที่ประเทศไทยในอดีตสามารถพบสัตว์ตระกูลแรดในประเทศไทยได้ 2 ชนิด คือ
- แรดชวา
- กระซู่
ซึ่งปัจจุบันแรดชวาและกระซู่มีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว แต่ยังคงอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวน และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพราะ ต้องการคุ้มครองซาก หนัง นอ และผลิตภัณฑ์จากซากของสัตว์ทั้ง 2 ชนิด
ข้อมูล : สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร
Studio7 : Gentlewoman x Studio7
Gentlewoman x Studio7 Accessories for iPhone 15 Series เริ่มต้นเพียง 790.- : ช้อปที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง