วันที่ 27 ก.ย.66 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่1 แถลงสรุปรายละเอียดโครงการดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ของสภาผู้แทนราษฎรโดยสรุปค่าใช้จ่ายจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 1,493,800 บาท ว่า ใช้จริงไป 917,009.51 บาท ถือว่าเราใช้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 500,000 บาท ในเรื่องของงบรับรองตั้งไว้ 200,000 บาทใช้จริงไป 61,742 บาท ส่งคืนคลังจำนวน 138,257 บาทซึ่งรายะลเอียดในการใช้จ่าย หมดไปกับการรับรองใช้ใน 2 งานหลัก คืองานเลี้ยงรับรองนักศึกษาและคนทำงานไทยในสิงคโปร์ที่ได้เชิญมาหารือกันในสถานทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรับรอง สส.สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ ในส่วนของรายละเอียดงานอยู่ระหว่างการรวบรวมรายงาน สิ่งที่พบมี 3 ประเด็น ประเด็นแรกเราต้องเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย ที่จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต โดยตนได้พบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ พบว่าหากประเทศไทยไม่เตรียมโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเป็นไปไม่ได้ เช่นเรายังไม่มีการตกลงกันเรื่องเบ้าชาร์จรถไฟฟ้า ทุกคนอยากมีรถไฟฟ้า แต่ยังไม่ตกลงเรื่องกระบวนการชาร์จ ยังไม่ตกลงกันเรื่องรูปแบบของตัวถัง ที่จะมีการใช้แบตเตอรีของทุกค่ายผู้ผลิต
ซึ่งทั้งหมดต้องใช้มาตรการที่ออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายที่เตรียมไว้ก่อน ผู้ประกอบการจึงสามารถลงทุนและสามารถที่จะดำเนินการได้ ตนจะส่งให้พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อพิจารณา เรื่องที่สองเป็นเรื่องปัญหาความท้าทายคนไทยที่ทำงานในระดับโลกอยู่ที่สิงคโปร์ ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม ยังไม่ดึงดูดชาวต่างชาติมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการทางภาษีในการสนับสนุน ปัญหา Open Data ยังไม่มีเพียงพอที่ทำให้บริษัทมาลงทุนในประเทศไทยได้ ประเด็นที่สาม เรื่องแรงงานไทยในสิงคโปร์ ตนได้มีโอกาสไปเยี่ยมพบว่า ในขณะที่เราได้ยินการอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ไม่มีรายงานเรื่องนี้ แรงงานไทยเต็มใจและตั้งใจที่จะอยู่สิงคโปร์ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้น และต้องการการสนับสนุนจากการที่แรงงานไทยจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น และมีลักษณะที่ดีขึ้น เพื่อทำให้เราแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น ส่วนการพัฒนาสภาให้ก้าวหน้าและโปร่งใส
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในสภาสิงคโปร์มีระบบที่ต่างกับประเทศไทยมาก ประเทศสิงคโปร์ลงทุนกับประสิทธิภาพของสภาสูงมาก ก็พบว่าสภาสิงคโปร์มีขนาดเล็ก เนื่องจากประเทศเล็ก มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อยคน แต่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากให้คุณภาพกับการประชุมสูงมาก “ประชุมเต็มที่เดือนละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 3-4 วันประชาชนสามารถนั่งในสภาได้ทั้งวัน เพื่อดูเรื่องการดีเบต การเสนอญัตติ และการตัดสินใจต่างๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นในสภาชุดนี้ผมจะมีส่วนที่ทำให้ประชาชนมาสามารถนั่งดูได้” นายปดิพัทธ์ ย้ำว่า เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเราไม่สามารถทำ Open Parliament ได้ ถ้ายังไม่มีนโยบายคลาวด์ ข้อมูลที่อยู่ในสำนักประชุม สำนักชวเลขไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลให้ทันสมัยขึ้นได้ เรื่องนี้ตนจะนำเข้าสู่กรรมการ ICT ของรัฐสภา เพราะว่าการลงทุนในระบบคลาวด์จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในอนาคต เพื่อทำให้การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันสมัยที่สุด และสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีข้อมูลมากมายของสภาได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด