2 นักวิทยาศาสตร์เจ้าของงานวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดชนิด mRNA คว้ารางวัลโนเบลไปครอง
ด็อกเตอร์คาทาลิน คาริโกะ นักชีวเคมีหญิง ชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี และด็อกเตอร์ดรูว์ ไวส์แมน แพทย์ชายชาวอเมริกัน ซึ่งทั้งสองเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปีนี้ จากผลงานการวิจัยบุกเบิก ที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนโควิดชนิด mRNA
คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า งานวิจัยของทั้งสองเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นของเทคโนโลยี mRNA ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2548 หรือเมื่อ 18 ปีมาแล้ว ซึ่งขณะนั้นได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย แต่ถือเป็นการค้นพบที่ล้ำหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ ที่เปลี่ยนความเข้าใจโดยพื้นฐานที่ว่า mRNA ปฏิสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันของเราอย่างไร และผู้ได้รับรางวัลทั้งสอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาวัคซีนในอัตราเร่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงเวลาที่เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคปัจจุบัน โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมากกว่า 1 หมื่น 3 พันล้านครั้ง นับตั้งแต่เริ่มระบาด และวัคซีนได้ช่วยชีวิตคนได้หลายล้านคน
ด้านด็อกเตอร์ทั้งสองต่างกล่าวว่า พวกเขารู้สึกตื้นตันใจอย่างยิ่ง เมื่อได้รับการแจ้งทางโทรศัพท์ถึงการได้รับรางวัล
ทั้งนี้เทคโนโลยี mRNA เป็นการผลิตวัคซีน โดยการสังเคราะห์ mRNA ที่เป็นรหัสพันธุกรรมสำหรับการสร้างโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรค เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย mRNA จะทำให้เซลล์สร้างโปรตีนหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต่างกับเทคโนโลยีวัคซีนแบบดั้งเดิม ที่ใช้เชื้อที่ตายแล้วมาทำวัคซีน นอกจากนี้ เทคโนโลยี mRNA กำลังถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับโรคอื่นๆ รวมถึงมะเร็งด้วย
สำหรับปีที่แล้ว ผู้ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ คือ ดร.สแวนเต แพโบ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน เจ้าของผลงานการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์โบราณ นีแอนเดอธัล ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์และสูญพันธุ์ไปแล้ว