ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์เฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte” โดยระบุข้อความว่า เรื่องจริง “สนามบินสุวรรณภูมิ” ใครทำ ? ใครอวย ? ใครแขวะ ? มีการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 หรือ SAT-1) ในสนามบินสุวรรณภูมิไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในโฟกัสความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาในระหว่างพิธีเปิดใช้ SAT-1 ไม่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ถ้าอ่านบทความนี้จะรู้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ใครทำ ? ใครอวย ? ใครแขวะ ?
1. มีการจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2535-2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย)
แนวคิดการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมีมานานมากแล้ว แต่เริ่มมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2535-2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) เมื่อมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมา แผนแม่บทนี้จัดทำโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยมีบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริการ่วมอยู่ด้วย
ในช่วงหนึ่งของชีวิตการทำงานของผม ผมมีอาชีพเป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านคมนาคมขนส่ง โดยได้มีโอกาสทำงานในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย อีกทั้ง ได้ทำงานกับบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ฯ อยู่หลายปี โดยได้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ทำให้ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิพอสมควร
แผนแม่บทนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักดังนี้
(1) อาคารผู้โดยสารหรือเทอร์มินัล 2 หลัง ประกอบด้วยเทอร์มินัล 1 อยู่ทางทิศเหนือด้านมอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 อยู่ทางทิศใต้ด้านถนนบางนา-ตราด
(2) อาคารเทียบเครื่องบินรอง (สำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอขึ้นเครื่องบิน) 2 หลัง ตั้งอยู่ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2
(3) รถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งใต้ดินเชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับเทอร์มินัล 2 และ
(4) รันเวย์ 4 เส้น ตั้งอยู่ด้านตะวันตก 2 เส้น และด้านตะวันออก 2 เส้น องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 120 ล้านคนต่อปี