อดีตผู้ว่าธปท.ร่วมนักวิชาการ ลงชื่อค้าน รัฐบาลแจกเงินดิจิทัล ชี้ผลกระทบหนัก ได้ไม่คุ้มเสีย

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ -อดีตฯ รองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ นักวิชาการ และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท “ชี้เป็นนโยบายที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ระบุควรทำแบบเฉพาะเจาะจง แทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพการคลังและความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น

 

วันนี้ (6 ต.ค.66) ทีมข่าว TOPNEWS รายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ลงชื่อพร้อมออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาท” เนื่องจากเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย โดยมีนักวิชาการและคณาจารณ์คณะเศรษฐศาสตร์ 99 คนร่วมด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ที่ลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ยืนยันว่า ได้มีการลงชื่อจริง โดยมี 3 เหตุหลัก ได้แก่

 

 

 

1. ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเพราะเศรษฐกิจขยายตัวแล้ว ผลกระทบจากโควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเข้ามา การส่งออกอาจจะยังไม่ขยายตัว แต่การบริโภคของประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากแล้ว ก็ไม่ค่อยจำเป็นจะต้องมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยจำนวนเงินที่มาก

 

2. การใช้เงินที่มากถึง 5.6 แสนล้านบาท ในครั้งเดียวของการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากจะทำให้เกิดการขาดดุลแล้ว ทำให้เกิดหนี้สาธารณะซึ่งสูงอยู่แล้ว จะยิ่งสูงมากขึ้น และทำให้โอกาสการลงทุนในอนาคตของภาครัฐ จะสูญเสียไป ดอกเบี้ยจะเป็นภาระที่สูงขึ้น
3. ไม่มีความเป็นธรรมในการเหวี่ยงแห แจกเงิน ทั้ง ๆ ที่คนหลายล้านคน อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างดี หรือระดับปานกลาง ซึ่งไม่จำเป็นต้องแจกเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งจะกลายเป็นภาระเงินเฟ้อ และอัตราภาษี ในอนาคตซึ่งจะตกอยู่กับคนหมู่มาก ซึ่งมีฐานะปานกลางด้วย

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถยกเลิกได้ ศ.ดร.พรายพล ระบุว่า ก็อยากให้ปรับลดสเกล ในการแจกเงินลง ก็น่าจะพอทำได้

ข่าวที่น่าสนใจ

 

สำหรับ 7 เหตุผลของ จากนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 ซึ่งสูงที่สุด ใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่า ของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปี จะขายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation)สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2. เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป

ค่าเสียโอกาสสำคัญ คือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ

การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย
“ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือ ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน”

4. เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

 

 

5. ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้ เพื่อสร้าง ‘ที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต

“ นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย “

 

 

6. การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

 

 

7. สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกล จึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

 

“ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท’ แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลัง หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจง แทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น”

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เจ้าคณะอำเภอสั่งนิมนต์  “พระอาจารย์ชิน” พ้นสำนักสงฆ์ใน 7 วัน หลังปลุกเสก “หมูเด้ง” ลูกศิษย์เศร้าพระอาจารย์เป็นพระสายปฏิบัติ
ผบ.ทร.ชื่นชมนักรบ 356 นาย เสียสละช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่เชียงราย
"ผบ.ทร" ตรวจเยี่ยม หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ยกระดับกำลังพล-เครื่องมือ ทุกมิติ ย้ำรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเต็มที่
"เจ้าอาวาสวัดดัง" พิษณุโลก เครียดหนัก เจ้าภาพกฐินเทงาน ซ้ำจ้างลิเกคณะดังมาแสดง กลับไม่จ่ายเงิน
“ชูศักดิ์” เผยเพื่อไทยตั้งวงวาง 3 สถานการณ์เร่งแก้ รธน. ย้ำยังเป็นเรื่องที่อยู่ในเป้าหมาย
"บิ๊กเต่า" เผยกองปราบเร่งสอบปม "ทนายตั้ม" รีดเงินบอสพอล 7.5 ล้าน
Ripley's Believe It or Not! Pattaya เปิดตัวเครื่องเล่นใหม่ตัวที่ 9 THE LOST PYRAMID การผจญภัย ล่าสมบัติในพีระมิดที่สูญหาย
"ทนายเจ๊อ้อย" เผยเหตุสอบปากคำนานเ ชี้ตร.เก็บทุกประเด็น ลั่นไม่มียอมความ
วัดหนองฆ้อ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พุทธาภิเษกพระผงเหนือดวงเศรษฐี หลวงพ่อทองสุข รุ่นที่ระลึกงานทอดกฐิน เปิดให้บูชาเนื่องในวันทอดกฐินสามัคคีประจำปีของวัด รายได้นำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
วัดหนองฆ้อ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง พุทธาภิเษกพระผงเหนือดวงเศรษฐี หลวงพ่อทองสุข รุ่นที่ระลึกงานทอดกฐิน เปิดให้บูชาเนื่องในวันทอดกฐินสามัคคีประจำปีของวัด รายได้นำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น