“มนัส โกศล” แนะรัฐบาลเดินหน้า “นโยบายแรงงาน” ต้องคำนึงปัจจัยทาง “เศรษฐกิจ” มากกว่า “การเมือง”

กดติดตาม TOP NEWS

"มนัส โกศล" ลั่นนโยบายแรงงานต้องคำนึงเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง จี้ "เศรษฐา-พิพัฒน์" ปรับค่าจ้างแบบค่อยเป็นค่อยไป อัดฉีดมาตรการ "ลดภาษี-ลดต้นทุน" จูงใจนายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างลูกจ้างของตัวเอง ดึงคนหาเช้ากินค่ำ "พ่อค้าแม่ค้า-ไรเดอร์" เข้าระบบประกันสังคม แนะ "รมว.ศธ." ปรับโครงสร้างการศึกษาปั๊มบัณฑิตจบใหม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานสางปัญหาจบป.ตรีกินเงินเดือนเท่าม.6 วอน "ธปท." วางระบบสร้างภูมิคุ้มกันผู้ใช้แรงงานไม่ก่อหนี้เกินตัว พร้อมเตือนแนวโน้มภาวะจ้างงานกระทุ้งรัฐบาลอย่านิ่งเฉยห่วง "แรงงานต่างด้าว-หุ่นยนต์" เขี่ยคนไทยเดินเตะฝุ่น

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ในฐานะหัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ (รสช.) เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานไทยทั้งระบบต่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย

1.อยากให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไปและคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง

2.อยากให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าและมีการปรับโครงสร้างประจำปีในทุกสถานประกอบการ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเท่าเทียมของค่าปรับขึ้นค่าจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเดิมที่มีค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำ

3.อยากให้มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม เช่น ลดภาษี ลดต้นทุน หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

4.อยากให้นำกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้า ไรเดอร์ เข้าระบบประกันสังคม เพื่อที่จะได้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานกลุ่มดังกล่าว

5.อยากให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ปรับโครงสร้างการศึกษา”ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหา Skill Mismatch สะท้อนจากแรงงานระดับ ป.ตรี ที่จ้างมาต้องทำงานในตำแหน่งเดียวกับระดับมัธยมปลาย

6.อยากให้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควบคุมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้มีความเหมาะสมเพื่อป้องกันแรงงานก่อหนี้เกินตัว

นายมนัส กล่าวถึงภาวะและแนวโน้มการจ้างงานไทย 1.เริ่มเห็นแนวโน้มการจ้างแรงงานข้ามชาติมาแทนแรงงานไทย เมื่อแรงงานเกษียณหรือสมัครใจลาออก ในบางธุรกิจ 2.เริ่มเห็นการจ้างแรงงานข้ามชาติมาแทนแรงงานไทย และการใช้ automation มากขึ้นในบางธุรกิจภาคผลิต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก ส่วนใหญ่เป็นการจ้างทดแทนแรงงานไทยที่ลาออก หรือ early retire (อายุ 45-55 ปีขึ้นไป ลาออกไปทำเกษตร หรืออาชีพอิสระ) ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติในภาคผลิตส่วนใหญ่เป็นเมียนมา และกัมพูชา ขณะที่แรงงานลาวยังมีน้อย ส่วนมากอยู่ในภาคบริการ 3.เห็นว่าธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เริ่มปรับกระบวนการลงทุนเน้น automation มากขึ้น มีบางบริษัทที่บริษัทจีนเข้ามาลงทุนผ่านการร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการบริษัทญี่ปุ่นเดิม ทำให้มีการบริหารงานเปลี่ยนไป เน้นการใช้ automation และจ้างแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ทำให้การจ้างงานแรงงานไทยค่อนข้างได้รับผลกระทบ 4.รายได้ของแรงงานในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว ทั้งค่ากะค่าล่วงเวลา สวัสดิการ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง และยานยนต์ที่ยังมี OT ต่อเนื่อง ค่าจ้างส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ไม่มีการปรับค่าจ้างประจำปี อย่างไรก็ดี มีบางโรงงานที่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีได้ เนื่องจากมีสหภาพแรงงาน

ขณะที่สถานการณ์การนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ไทยสามารถนำเข้าแรงงานข้ามชาติได้มากขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายแรงงานข้ามชาติเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิดในปี 2563 และ 2.การคลาย lockdown ตามสถานการณ์โควิดที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติสามารถต่ออายุทำงานในประเทศได้ 2 วาระ วาระละ 2 ปี รวม 4 ปี ทั้งนี้ปัจจุบันจำนวนแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม หรือเป็นผู้ประกันตน ม.33 ในโรงงานอยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน ขณะที่หากรวมนอกสถานประกอบการอยู่ที่ราว 4 ล้านคน และ ปกติการจ้างแรงงานข้ามชาติไม่สามารถจ้างผ่าน outsource เหมือนแรงงานไทยได้ แต่ต้องจ้างตรงผ่านบริษัทจดทะเบียนกรมจัดหางาน (ปัจจุบันมี 100 กว่าบริษัท) ตามกฎกระทรวงปี 2560 อย่างไรก็ดีการจ้างแรงงานไทยและแรงงงานข้ามชาติไม่มีความแตกต่างกันในด้านรายได้และสวัสดิการ

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีความจำเป็น ณ ปัจจุบัน เนื่องจากราคาสินค้ามีการปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกลุ่มแรงงานในธุรกิจ SMEs ที่ไม่มีการปรับค่าจ้างประจำปี และ กลุ่มแรงงานเดิมที่ค่าจ้างไม่ต่างจากค่าแรงขั้นต่ำมากนัก อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็น “ค่าจ้างแรกเข้า” และเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างประจำปีตามโครงสร้างเงินเฟ้อในแต่ละปี ทั้งนี้ กลุ่มนายจ้างภาคเกษตร เช่น เจ้าของสวน/ไร่นา ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างแรงงานได้ซึ่งอาจทำให้มีการหันไปใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในอนาคต” นายมนัส กล่าวถึงมุมมองต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาล

นายมนัส กล่าวถึงภาวะความเป็นอยู่ของแรงงาน มองว่าแรงงานส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้สินสูงกว่ารายได้ โดยหนี้สินนอกระบบ: แรงงานมีการกู้ยืมผ่านช่องทางนอกระบบค่อนข้างสูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ช่วง COVID-19 ที่แรงงานมีการนำเงินออมออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่รายได้ลดลงเนื่องจากการไม่มี OT และโบนัส ทำให้หลายรายต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ขณะที่ หนี้สินในระบบ: แรงงานบางรายยังประสบปัญหาก่อหนี้เกินตัว เช่น หนี้บัตรเครดิต ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรเข้ามาควบคุมมากขึ้น ดังนั้นสมาคมฯ มองว่ามาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินจากทาง ธปท. เช่น คลินิกแก้หนี้ หมอหนี้ สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของแรงงานได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม บางรายมีหนี้สินสูงจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ มาตรการพักหนี้ไม่ได้ช่วยผลักดันให้ผู้เป็นหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง

/-/-/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น