เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อนถึงกรณีพรรคเพื่อไทยต้องการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตว่า ขณะนี้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ตั้งผู้รู้ด้านต่างๆ มาเป็นกรรมการศึกษาแล้ว คาดว่าคนหนึ่งที่จะเป็นกรรมการคือ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งเชื่อว่า กรณีป.ป.ช.ตั้งกรรมการนั้น คงจะมาในวิธีการเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว ที่ตั้งกรรมการคู่ขนาดขึ้นมาศึกษา และเคยยื่นบันทึกให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์หยุดดำเนินการมาแล้ว เมื่อนิ่งเฉยจึงถูกดำเนินคดีอาญาในศาลนักการเมือง
“จตุพร” ท้ารัฐบาลวางสินทรัพย์เดิมพันหมดตัว หาก "เงินดิจิทัล" ทำประเทศพัง
ข่าวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตามเห็นว่าหากรัฐบาลยังมุ่งมั่นจะทำดิจิทัลวอลเลตขอเรียกร้องให้นำทรัพย์สินของผู้คิดและผลักดันโครงการนี้มาค้ำประกัน ถ้าเกิดผิดพลาดจะถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด แม้จะมีมูลค่าไม่เท่ากับจำนวนเงินแจก 5.6 แสนล้านบาทก็ตาม เพราะเป็นการเดิมพันให้หมดหน้าตัก และเทหมดตัวกันไปเลย เมื่อทำโครงการแล้วเกิดความเสียหายกับประเทศต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ถ้าโครงการสำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็ได้คะแนนเสียง แต่หากเกิดความฉิบหายขึ้น คุณต้องฉิบหายด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ให้ประเทศไทยมาฉิบหายอย่างเดียว
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้กลัวว่าโครงการดิจิทัลจะทำให้ต่างชาติทึ่งตะลึงว่าประเทศไทยทำได้ แต่ไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วกับต่างชาติ ที่เข้ามาซื้อสินทรัพย์ในไทยในราคาถูก โดยมีกรณีศึกษาจากเศรษฐกิจล่มจมในปี 2540 และรัฐบาลตั้งองค์การเพื่อกรปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. แล้วต่างชาติเข้ามาซื้อสินทรัพย์ราคาถูก ทำให้รัฐขาดทุนมากถึง 7 แสนล้านบาท จากนั้นนำไปขายกลับให้คนไทยในราคาแพง จนวันนี้ยังใช้หนี้ต่างชาติไม่หมด ด้วยบทเรียนเช่นนี้ยังจะกล้าให้เดินไปตามแนวทางเดียวกันอีกเหรอ อีกทั้งเห็นว่า พรรคเพื่อไทยอย่าได้อ้างถึงความสำเร็จ สมัยพรรคไทยรักไทยใช้หนี้เงินกู้ไอเอ็มเอฟหมดก่อนกำหนดมาตอบโต้ เพราะเป็นคนละเรื่องกับการคิดโครงการพาประเทศไทยไปเสี่ยง หากเทียบเคียงกับการรับจำนำข้าวและโครงการอื่นๆ ที่ไม่สำเร็จแล้ว ยังหมักหมมปัญหาตามมาอีกมากมาย นอกจากนี้มีผู้รู้บอกว่า การทำบล็อกเชนบัญชีคนทั้ง 56 ล้านคนนั้น อาจมีราคาการทำถึงหมื่นล้านบาท เราไม่น่าเสียเงินในส่วนนี้เลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง