เฟคนิวส์สถานการณ์อิสราเอล- ฮามาสระบาด จุดการเรียกร้องให้มีกฎคุมแพลตฟอร์มต่อต้านข่าวปลอม
ในขณะที่สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสทวีความรุนแรงขึ้น ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและข่าวปลอมกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโซเชียลมีเดีย
โดยในบรรดาเฟคนิวส์ที่เกิดขึ้นได้แก่ ภาพจากวิดีโอเกมสงครามที่ชื่อ อาร์มา 3 (Arma 3) ที่ถูกส่งต่อว่าเป็นฉากการโจมตีของกลุ่มฮามาส รวมถึงรูปถ่ายที่อ้างว่า เป็นภาพของทหารอิสราเอลที่ถูกฮามาสจับกุม ซึ่งแท้จริงแล้ว ภาพนี้มาจากการซ้อมรบในฉนวนกาซาเมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีการแชร์คลิปวิดีโอ ที่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษปลอม ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย โดยคำบรรยายปลอมภาษาอังกฤษระบุว่า ปูตินขู่เตือนสหรัฐว่าห้ามช่วยเหลืออิสราเอล มิฉะนั้นรัสเซียจะทำการตอบโต้ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว คลิปดังกล่าวปูตินพูดเป็นภาษารัสเซียเกี่ยวกับสงครามในยูเครน และวิดีโอนี้เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว
จากกรณีดังกล่าว ทำให้นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลประเทศต่างๆจำเป็นต้องออกกฎระเบียบเพิ่มเติม บังคับใช้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ้ค ติ๊กต็อก หรือ เอ็กซ์ เพื่อควบคุมข่าวปลอมที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยอมรับถึงความซับซ้อนของการกลั่นกรองเนื้อหาแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้นักวิจัยกล่าวว่า ขนาดของข้อมูลเท็จหลังการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์ ในระดับสูง และรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ผู้ใช้แยกแยะข้อเท็จจริงได้ยากอย่างยิ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไซฟุดดิน อาเหม็ด จากสิงคโปร์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ผิดและข้อมูลบิดเบือนแพร่กระจายเร็วกว่าข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เนื่องจากมันมักเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเล่นกับอารมณ์ของผู้ใช้ ทั้งความกลัว โกรธ โศกเศร้า ซึ่งทำให้คนเราหยุดคิดและใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุผล ก่อนที่จะแชร์หรือคอมเม้นเกี่ยวกับเนื้อหานั้น ดังนั้นเขาจึงเตือนให้ทุกคนใช้สติก่อนการหลงเชื่อข้อมูลใดๆ