วันที่ 13 ต.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ๑๓ ตุลาคม ภาพความทรงจำของคนไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,395 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 5 – 12 ตุลาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงภาพความทรงจำของคนไทย เดือนตุลาคม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.8 ระบุ ภาพการช่วยเหลือเกื้อกูล ทำบุญ ทำทาน ร้อยละ 62.3 ระบุ การดูแลบ้านเมือง ชุมชน ทุกคนปลอดภัย ร้อยละ 59.7 ระบุ รณรงค์คนไทย จงรักภักดี ปกป้องเสาหลักของชาติ ร้อยละ 57.6 ระบุ รณรงค์คนไทย รู้รัก สามัคคี ไม่ทำบ้านเมืองวุ่นวาย และร้อยละ 55.1 ระบุ ภาพการบำเพ็ญประโยชน์ จิตอาสา
ข่าวที่น่าสนใจ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงปัจจัยทางสังคม ทำให้คนไทยมีความสุข พบว่า ร้อยละ 47.6 ระบุ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ร้อยละ 42.7 ระบุ การแสดงความจงรักภักดี เป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติ ปกป้องเสาหลักของชาติ ร้อยละ 41.4 ระบุ เห็นต่างชาติ สนับสนุนคนไทยให้จงรักภักดี ไม่สั่นคลอนสถาบันหลักของชาติไทย ร้อยละ 39.1 ระบุ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และเพียงร้อยละ 9.4 เท่านั้น ที่ระบุ พฤติกรรมนักการเมืองทำให้คนไทยมีความสุข อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนไทยมีความสุข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.5 ระบุ หลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 75.5 ระบุ มีงานทำ มีหน้าที่การงาน และร้อยละ 70.7 ระบุ การมีรายได้
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ภาพแห่งความทรงจำของคนไทยเดือนตุลาคม คือ ภาพการช่วยเหลือเกื้อกูล ทำบุญทำทาน การดูแลบ้านเมือง ชุมชน ให้ทุกคนปลอดภัยและการรณรงค์คนไทย จงรักภักดี ปกป้องเสาหลักของชาติ เป็นต้น ที่น่าพิจารณาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ คือ การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง การมีงานทำ และการมีรายได้ เป็นปัจจัยสำคัญหลักทำให้คนไทยมีความสุข ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะนำข้อมูลผลสำรวจนี้ไปประยุกต์ใช้รณรงค์การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติอย่างถูกต้องจริงจังต่อเนื่อง
การมีงานทำและการมีรายได้ของประชาชนที่จะทำให้คนไทยมีความสุขยั่งยืนมากกว่า “รัฐบาลอาจจะทบทวนปรับปรุงทำให้มาตรการแจกเงิน ดิจิทัล กลายเป็นการหนุนเสริมให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการมีงานทำ การมีรายได้ การใช้ชีวิตพอเพียง คือการมีหลักสำคัญค้ำจุนชีวิตความสุขที่ยั่งยืนให้ประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้นำรัฐบาลลองนึกภาพดูว่า เงินก้อนที่แจกกระจายออกไปนั้นเป็นสมบัติส่วนตัว ผู้นำประเทศจะตัดสินใจอย่างไรกับเงินดิจิทัลก้อนนี้ เพราะเงินก้อนที่จะกระจายออกไปมาจากน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อและน้ำตาภาษีของประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้นำรัฐบาล” ผู้ก่อตั้ง ซูเปอร์โพล กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง