14 ต.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ หลังนำคณะลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ว่า จากที่มันสอดท่อส่งน้ำระบบเก่าในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกใช้มา 87 ปีจึงได้โทรศัพท์ไปปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ที่บินมาเลยเพื่อมาดูพื้นที่เองทันที ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดใหญ่มีปัญหาเรื่องน้ำประปา อุปโภคบริโภคที่ผ่านมาคิดว่าเป็นของตายนึกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่จริงแล้วเราไม่ได้รู้ปัญหานี้เลย จึงต้องไปบริหารจัดการให้ดี
ข่าวที่น่าสนใจ
ส่วนที่บางระกำก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม และเรื่องการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำก็ยังไม่ดีพอ และที่อ.พรหมพิราม ฤดูน้ำก็ท่วมฤดูร้อนก็แล้ง หน้าที่เราคือต้องไม่ให้ท่วมไม่ให้แล้งจึงมีการพูดคุยกันหลายเรื่องทั้งนี้ยังได้สอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตรด้วยเรื่องการให้องค์ความรู้ความเรื่องน้ำที่เป็นกรดเป็นด่างและการทดสอบปุ๋ยและดิน มีมากน้อยเพียงใด เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง มีการทดสอบค่าปุ๋ยเพื่อให้ ปุ๋ยได้ตรงกับพืชผลการเกษตร เพื่อทำให้มีพืชผลการเกษตรที่มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวสอบถาม ว่าตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้มีเสียงตอบรับต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า หากมองตนเองและบอกว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้างคงไม่เหมาะสมต้องให้พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสินจะดีกว่าแต่ตนก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมและสื่อมวลชนก็ทราบว่าเราทำงานหนักมากทำงานทุกวัน วันนี้เสาร์-อาทิตย์ วันหยุดรัฐมนตรีหลายท่านก็ให้ความสำคัญ ในเรื่องนี้มากดังนั้นเราก็ทำงานทุกวันและพยายามที่จะหาทางออกระยะสั้นให้กับพี่น้องประชาชนในแง่ของเรื่องค่าใช้จ่ายลดค่าไฟ ค่าน้ำมันดีเซลแล้ว เกษตรกรเดือดร้อนก็พักหนี้ให้แล้ว ก็คงมีนโยบายที่เข็นออกไปเรื่อยๆ
นายเศรษฐา กล่าวถึงกระแสตอบรับ ต่อ นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ทุกเสียงของประชาชน ถือว่าเราต้องฟัง รวมถึงเสียงคัดค้านด้วย เสียงแนะนำว่าควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน อยากจะฟังเสียงทุกเสียง ไม่ได้ว่าจะไม่ฟังใคร หรือว่าไม่น้อมรับคำเตือน
ส่วนจะให้ความมั่นใจได้หรือไม่ ว่าปีนี้พื้นที่ภาคกลางจะไม่ท่วมในระยะยาวนายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มั่นใจ เพราะรัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาได้เดือนเดียวและเห็นปัญหาว่าสะสมมานาน แต่จะช่วยบรรเทาในพื้นที่ที่ท่วม แล้วเราคงต้องคิดในระยะกลางและระยะยาวด้วย ว่าปีหน้าและอีก 3 ปี จะเป็นอย่างไร คงต้องมีโครงการออกไปอีกพอสมควรในเรื่องนี้
นายเศรษฐา เปิดเผยถึง เรื่องแนวคิดการทำธนาคารน้ำใต้ดินว่าได้พูดคุยปรึกษากับนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ จะทำนำร่องไปก่อน ที่จ.ชัยนาท จะมีการทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้งจังหวัด แล้วก็ดูว่า จะช่วยเรื่องน้ำได้จริงหรือไม่ หากจังหวัดอื่นหรือเขตอื่นเห็นด้วย ก็พร้อมนำเอาไปทำได้
ซึ่งรูปแบบจะเป็นการขุดบ่อลงไปใต้ดินสมมุติว่า 40 เมตร คูณ 40 เมตร ลงไปก่อนและจะขุดลึกลงไปอีกให้ทะลุชั้นดินเหนียวซึ่งที่สำคัญต้องทะลุชั้นดินเหนียวลงไป ไม่จำเป็นต้องลึกลงไปถึงตาน้ำ เพราะตาน้ำหมายถึง 15 เมตร อันนี้แค่ 9-11 เมตร ก็น่าจะทะลุชั้นดินเหนียวแล้วและ จะเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำเวลาฝนตกลงมา และเมื่อซึมลงไปทะลุตรงสะดือน้ำลงไปเก็บ อยู่ใต้ดิน เวลาหน้าแล้งก็ดูดน้ำขึ้นไปใช้ น้ำที่เก็บขังอยู่ใต้ดินเหนียวก็จะถูกดูดกลับขึ้นมาทำให้บ่อน้ำ สามารถช่วยในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย เมื่อฤดูฝน ฝนตกลงไปก็ซึมลงไปก็จะช่วยเรื่องไม่แล้งและไม่ท่วมได้ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่พยายามผลักดันกันมานาน แต่ก็เข้าใจว่าบางคนไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับที่มีความเห็นแย้ง ก็ต้องพิสูจน์ แทนที่จะทำทั้งประเทศก็ทำจังหวัดเล็กๆ จังหวัดที่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและราษฎรเห็นด้วย ว่าควรจะต้องทำ เราก็จะทำก่อน
“อยากให้มีการเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่มีความเชื่อ ในทฤษฎีนี้จริงๆแล้วก็บริหารจัดการกันไป ระหว่างที่รอคอยโครงการใหญ่ใหญ่เรื่องขุดคลองหรือทางเบี่ยงน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณเป็นพันล้าน หมื่นล้าน อันนี้ก็จะช่วยบรรเทาและอาจจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนด้วย” นายกรัฐมนตรี อยากเห็นการเร่งรัดการบริหารจัดการน้ำ ในวาระของรัฐบาลใน 4 ปีเพราะถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวพอสมควร หากโครงการใดที่ผ่านงบประมาณแล้วเริ่มต้นได้เร็วก็อยากให้เร่งทำได้เลย เพราะคนที่เดือดร้อนก็เดือดร้อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-