นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ตอบข้อซักถามกรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในการแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะเริ่มนำร่องสำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ผมเห็นว่าถ้าทำเฉพาะ 2 สายนี้ ไม่สามารถนั่งข้ามสายได้ ซึ่งไม่ “ตรงปก” สามารถลงมือทำได้ทันที ไม่ต้องรอถึงปีใหม่ ส่วน “แบบตรงปก” ซึ่งจะนั่งกี่สาย กี่สีก็ได้ ไม่ควรให้รอนานถึง 2 ปี
1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร
ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างรังสิต-ตลิ่งชัน ระยะทาง 41 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.02 บาท (42/41)
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากบางเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร
ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเดินทางได้ไกลสุดคือระหว่างเตาปูน-บางใหญ่ (คลองบางไผ่) ดังนั้น ค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 1.83 บาท (42/23)
3. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “แบบไม่ตรงปก” สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วง จะต้องรอถึงปีใหม่หรือ ?
รมว.คมนาคม ชี้แจงในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลว่า จะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้นๆ ซึ่ง “ไม่ตรงปก” แต่ก็ยังถือว่าดีที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าเดินทางให้ผู้โดยสารได้บ้าง
แต่ผมเห็นว่าไม่ต้องรอถึงปีใหม่ สามารถเริ่มได้ทันที เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ก็ได้ เพราะรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้ เป็นการลงทุนทั้งหมดโดยภาครัฐ ไม่มีเอกชนร่วมลงทุน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเจรจากับเอกชน เพียงแค่ใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และประชาสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
4. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “แบบตรงปก” ต้องรอนานถึง 2 ปี หรือ ?
รมว.คมนาคมเคยให้สัมภาษณ์ว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้รถไฟฟ้ากี่สายก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนสายและจำนวนสี ซึ่งถือว่าเป็น “แบบตรงปก” (แต่ไม่ได้บอกว่าจะสามารถใช้ได้ภายในระยะเวลากี่ชั่วโมง) ผู้โดยสารจะต้องรอถึง 2 ปี แต่ผมเห็นว่าควรใช้เวลาประมาณ 1 ปีเท่านั้น และควรแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับกิจการรถไฟฟ้า” ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ตามที่ผมได้ให้สัมภาษณ์หลายรายการไปแล้วก่อนหน้านี้ ผมดีใจที่ รมว.คมนาคมชี้แจงในระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา ซึ่งตรงกับข้อเสนอของผม
คณะกรรมการฯ มีหน้าที่เจรจาต่อรองกับผู้เดินรถไฟฟ้า โดยควรเริ่มเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ก่อน เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด หาก BTSC ยอมรับข้อเสนอจากภาครัฐ คาดว่าผู้เดินรถรายอื่นก็คงยอมเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้จากค่าโดยสารให้ผู้เดินรถแต่ละราย รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้ผู้เดินรถแต่ละรายอีกด้วย
รมว.คมนาคม เข้าใจว่าหากลดค่าโดยสารลง จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แล้วจะส่งผลให้ผู้เดินรถไฟฟ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ภาครัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากผู้เดินรถ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แม้จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่รายได้จะลดลง เพราะค่าโดยสารลดลงจากอัตราในปัจจุบันมาก ซึ่งจะทำให้รายได้ลดลง ดังนั้น ภาครัฐจะต้องชดเชยให้ผู้เดินรถ