จับ 3 สัญญาณ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติค้าน "เงินดิจิทัล" 10,000 บาท ไม่ตอบโจทย์ ไร้ความชัดเจน ต้องมองที่เรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก
ข่าวที่น่าสนใจ
ยังเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองที่ฟาดใส่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่องสำหรับนโนบายแจก “เงินดิจิทัล” วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินออกมาระบุว่า โครงการเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาทที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของประชาชนนั้น
ในมุมมองของแบงก์ชาติเห็นว่า ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้มีไม่มากพอ เนื่องจาก ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผลของโครงการต่อเศรษฐกิจ อาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
การออกมาติติงนโยบายเงิน ดิจิทัลของผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นการส่งสัญญาณครั้งที่ 3 ของบุคคบระดับผู้บริหารของแบงก์ชาติ โดยครั้งแรกเกดิขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยผุดนโยบายดังกล่าว
โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ส่วนตัวไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนำมาหาเสียง แต่ในหลักการแล้ว หากเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วบั่นทอนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจับตา และขอยืนยันว่า
เศรษฐกิจไทยไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าสู่โหมดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น มาตรการที่ออกมาควรเน้นในการดูแลเรื่องเสถียรภาพสำคัญมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ
จากนั้นสัญญาณเตือนครั้งที่ 2 เกิดขึ้น เมื่อเดือนกันนายนที่ผ่านมา หลังจากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าหาหรือกับผู้ว่าแบงก์ชาติถึงการแจก “เงินดิจิทัล” วอลเล็ต 10000 บาท
โดยหลังการหารือ นายเศรษฐพุฒิ แสดงจุดยืนอีกครั้งว่า เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เนื่องจาก ยังไม่มีความชัดเจน และถ้าทำรูปแบบเฉพาะกลุ่ม จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า รวมทั้งเรื่องเสถียรภาพการทำนโยบายต่าง ๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัด ทั้งรายจ่าย หนี้ ขาดดุลเป็นอย่างไร เช่น
- ช่วยสร้างความเชื่อมั่น
- วินัยการเงินการคลัง
- และที่สำคัญโยบายออกมาต้องไม่ทำลาย และไม่กระทบเสถียรภาพเยอะเกินไป ซึ่งเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ยังขาดความชัดเจน
ภายหลังการแสดงข้อกังวลของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติต่อการดำเนินนโยบายแจกเงิน ดิจิทัล ทำให้เกิดข่าวลือว่า รัฐบาลจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกจากตำแหน่ง ซึ่งต่อมานายเศราฐาออกมาปฏิเสธข่าวระหว่างเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เป็นเรื่องตลก อะไรคือสิ่งที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมองว่า เสถียรภาพสำคัญที่สุดมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศ มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เรื่องประกอบด้วย
1. เสถียรภาพด้านราคา
- นโยบายที่ออกมาจะต้องไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นมาก เช่นในหลายประเทศที่จะต้องมีการพิมพ์เงินออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพ
- ทำให้นโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลังเกินความจำเป็นจนขาดเสถียรภาพในการกำหนดนโยบาย
2. เสถียรภาพด้านต่างประเทศ
- เช่น การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
3. เสถียรภาพด้านฐานะการคลัง
- ต้องคำนึงบนพื้นฐานหลายอย่าง ไม่ให้ภาระการคลังสูงเกินไปจนกระทบกับเสถียรภาพและหนี้สาธารณะต่อ GDP
- รวมถึงภาระหนี้ต่องบประมาณจะต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป
- โดยในส่วนของไทย ปัจจุบันภาระหนี้ต่องบประมาณยังอยู่ในสัดส่วน 8.5 % และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 8.75 %
- แต่หากมีการทำนโยบายใช้จ่ายที่กระตุ้นภาระหนี้ให้สูงมากกว่า 10% ประเทศก็อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
4. เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน
- ต้องทำนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้ผิดวินัยการชำระหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ
สำหรับทั้ง 4 เรื่องนี้ คือ หัวใจของเสถียรภาพเศรษฐกิจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจะต้องดูแลอย่างเคร่งครัด เพรา ะผลของมันจะส่งไปถึงประชาชนทั้งประเทศ
สิ่งที่กล่าวมา คือ สัญญาณเตือนของผู้บริหารแบงก์ชาติว่า เศรษฐกิจไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องมองไปที่เสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญมากกกว่า จึงไม่แน่ใจว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังดื้อตาใสในการผลักดันนโยบายแจกเงิน ดิจิทัล เพื่อหวังผลทางการเมืองจนไปล้ำเส้นสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่หรือไม่…?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง