นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” ระบุว่า ความจำเป็นของเรือดำน้ำต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง “เรือดำน้ำ” เป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ ที่จะสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอีกหลายทศวรรษ ซึ่งเรือฟริเกต หรือ เรือผิวน้ำทำหน้าที่นี้แทนเรือดำน้ำไม่ได้เลย
ทราบไหมว่า ถ้าประเทศอื่นเอาเรือดำน้ำแค่เพียง 2 ลำ มาจอดใด้ทะเลที่ปากอ่าวไทยและหากมีเรือสินค้า หรือ เรือน้ำมันถูกยิงจม ก็จะไม่มีเรือสินค้าหรือเรือน้ำมันกล้าเข้ามาในอ่าวไทยแล้ว และทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันพลังงานสำรองในประเทศไทย อยู่ได้แค่ 30-40 วัน ดังนั้นถ้าไม่มีการนำเข้า ส่งออก ไม่มีน้ำมัน ภาคธุรกิจและประชาชนจะอยู่กันอย่างไร?
เรื่องนี้ไม่ใช่การขู่ให้กลัว หรือ คิดกังวลเกินเหตุ แต่มันคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีเรือดำน้ำของต่างชาติหลายลำเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย เพื่อรอยิงเรือรบและเรือสินค้า โดยเฉพาะเรือน้ำมันในอ่าวไทย ดังเช่น เรือหลวงสมุยที่ขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์เข้าสู่ประเทศไทย ก็ถูกเรือดำน้ำสหรัฐยิงจมในอ่าวไทยเช่นกัน และปัจจุบันมีการค้นพบซากเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาใต้ทะเลในอ่าวไทยห่างจากชายฝั่งสงขลาประมาณ 100 ไมล์ ยังไม่นับเรือดำน้ำที่มาปฏิบัติการแล้วกลับออกไป ไม่ได้ถูกจมลง ใครที่เข้าใจผิดว่าเรือดำน้ำใช้ในอ่าวไทยไม่ได้ ก็กรุณาไปศึกษาข้อมูลมาใหม่
การมีเรือดำน้ำ ช่วยประเทศไทยได้อย่างไร
เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และเรือตอร์ปิโด ซึ่งเป็นเรือผิวน้ำ ถูกเรือฝรั่งเศส ยิงจมแล้ว เรือดำน้ำไทยทั้ง 4 ลำ คือเรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนว อยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียม ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนแล่นลาดตระเวนบนผิวน้ำ นับเป็นปฏิบัติการดำที่นานที่สุดที่เคยดำมา ซึ่งยังปรากฏจากหลักฐานของฝ่ายฝรั่งเศสในการรบที่เกาะช้างว่าฝรั่งเศสมีความหวั่นเกรงเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยมาก แต่เพื่อผลของการยุทธ จึงได้ตัดสินใจเลี่ยงเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย โดยกำหนดแผนการปฏิบัติเป็นช่วงระยะเวลาสั้นมาก เมื่อปฏิบัติการเสร็จก็รีบถอนตัวกลับทันที เพราะเกรงว่าจะถูกโจมตีด้วยเรือดำน้ำ
ปัญหาเขตแดนทางทะเลและพื้นที่ทับซ้อน
ตอนนี้ไทยมีข้อพิพาททางทะเลกับ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย พม่า เขมร
มาเลเซีย — เกาะโลซิน ซึ่งมีทรัพยากรแสนล้านใต้ทะเล เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ต้องตกลงกับมาเลเซียใหม่ ภายในปี 71 เพราะหมดสัญญา
พม่า – ยังมีปัญหาเกาะ 3 เกาะ ในทะเล
เขมร – ไทยมีปัญหาเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลกับเขมร มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจำนวนมาก และจีนกำลังพัฒนาท่าเรือและฐานทัพเรือใหม่ให้เขมร ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดตราดเพียง 200 กิโล ทางทะเล นอกจากนั้นจีนจะมอบเรือฟริเกตให้เขมรอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น และ รุนแรงมากขึ้น และสมมติว่าจีนเอาเรือดำน้ำที่ไทยควรจะได้ ไปยกให้เขมร จะส่งผลอย่างไรกับไทย