วันนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และในฐานะอดีตกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กเรื่อง เรือปราบเรือดำน้ำ ใครดำน้ำ โดยระบุรายละเอียดว่า 7 มกราคม 2565 ผบ.ทร. พลเรือเอกสมประสงค์ นิลสมัย ให้สัมภาษณ์ ยันไม่ซื้อเรือฟริเกต แทนเรือดำน้ำ เพราะเรือดำน้ำ ยังคงเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 21 กันยายน 2566 ผบ.ทร. พลเรือเอกเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ บอกทัพเรือรับได้เรื่องเรือดำน้ำใช้เครื่องจีน โดยบอกว่าอย่างไรเยอรมันเขาก็ไม่ขายเครื่องยนต์ให้จีนด้วยเหตุความมั่นคง ดังนั้น อนาคตเรือดำน้ำจีนทุกลำที่เขาใช้เองและต่อขาย ก็จะใช้เครื่องจีน ปากีสถานซื้อ 8 ลำ ก็ใช้เครื่องจีน และจีนยอมขยายเวลาประกัน จาก 2 ปีเป็น 8 ปี 20 ตุลาคม 2566 สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ตรวจเยี่ยมกองทัพเรือ แถลงเลือกเรือฟริเกต ซึ่งรบได้ 3 ระบบ สามารถปราบเรือดำน้ำได้ ราคา 17,000 ล้าน แทนเรือดำน้ำ ในขณะที่พลเรือเอกอะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ยืนยันว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
“สมชัย” จี้ถาม "รบ.-ทร." ใครอยากได้เรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำกันแน่
ข่าวที่น่าสนใจ
นายสมชัย ระบุต่อว่า ประชาชนอย่างเรางง การตัดสินใจของกองทัพเรือและรัฐบาล 1.การเตรียมการเรื่องเรือดำน้ำ มีการจ่ายมัดจำไป 7,000 ล้าน มีการเตรียมการเรื่องอู่เทียบเรือ โรงซ่อมบำรุง คลังเก็บอุปกรณ์ประกอบ ส่งบุคลากรไปอบรม ฯลฯ รวมที่ใช้ไปแล้วอีกเกือบ 9,000 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นฟริเกต 9,000 ล้าน โยนทิ้งหรือ 2.เรือฟริเกตของไทย มี 5 ลำ จากความต้องการรวม 8 ลำ เป็นของจีน 4 ลำ เกาหลี 1 ลำ โดยลำสุดท้ายที่ซื้อ คือ เรือภูมิพล จากเกาหลี ราคา 15,000 ล้านบาท ส่วนราคาที่ รมว.สุทิน เปิดคือ 17,000 ล้านบาท มีการตั้งข้อสังเกตว่า ซื้ออะไร ทีไร ทำไมไทยต้องแพงกว่าเขา 3.การผิดสัญญาของจีนที่ไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำตามสเปคที่ตกลงกันแต่แรก กลับไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากจีน เช่น คืนเงินและชดใช้ค่าเสียหาย แต่กลายเป็นว่า ไทยต้องเป็นฝ่ายหาทางออกโดยเสนอเรือฟริเกตทดแทน พร้อมต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4. หากกองทัพเรือจะซื้อฟริเกต จะแลกกันง่ายๆ ไม่ต้องมีสเปค ไม่ต้องมีการเปรียบเทียบราคา ไม่ต้องดูเรือฟริเกตของประเทศอื่นเพื่อเลือกเรือที่มีสมรรถนะ เหมาะสม และใช้ร่วมกับกองเรือที่มีอยู่เลยหรือ
สรุปใครอยากได้ฟริเกตแทนเรือดำน้ำกันแน่ เป็น ทร. หรือ รัฐบาลเพื่อไทย คงต้องหาคำตอบให้ชัดและรับผิดชอบต่อเงินภาษีของประชาชนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง