สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. มีการเปิดเผยข้อมูล ว่า ปัจจุบัน มีบัญชีม้าในระบบธนาคารมากถึง 200,000 – 500,000 บัญชี จากบัญชีธนาคารในประเทศทั้งหมดกว่า 121,000,000 บัญชี ปปง.จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหามาตรการควบคุมการเปิดบัญชีม้า โดยได้ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ คัดกรองรายชื่อที่คาดว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า โดยรวบรวมจากผู้เสียหายที่ถูกฉ้อโกง หรือถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมออนไลน์และเข้าไปแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์ โดยขณะนี้รวบรวมได้แล้วกว่า 10,000 รายชื่อ รวมกว่า 70,000 บัญชี และแจ้งรายชื่อทั้งหมดไปยังสถาบันการเงิน เพื่อให้ระงับการทำธุรกรรมของบุคคลที่มีรายชื่อดังกล่าว นอกจากนี้ ปปง. ยังพบรายชื่อผู้เข้าข่ายเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 1,000 รายชื่อ
ขณะที่ มีข่าวเกี่ยวกับการหลอกลวงประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับบัญชีม้า ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างเฟซบุ๊กปลอมตระเวนหลอกเงินเหยื่อ โดยมีการเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารต่างๆ รวม 15 บัญชี เพื่อใช้ในการหลอกลงประชาชน , แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกโอนเงินร่วมลงทุน และบัญชีม้าแก๊งหลอกขายไอโฟนเด็ก
ล่าสุด ทีมข่าว TOPNEWS ได้สอบถามข้อมูลไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับ มาตรการในการดูแลและควบคุมการเปิดบัญชีม้า ของธนาคาร ในปัจจุบัน และเมื่อมีการแจ้งว่า พบบัญชีม้า ธนาคารจะต้องมีแนวทางดำเนินการอย่างไร โดยธปท. ได้ให้ข้อมูล ดังนี้
1. มาตรการในการดูแลและควบคุมการเปิดบัญชีม้า ของธนาคารในปัจจุบัน
– ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภัยหลอกลวงออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเปลี่ยนจากช่องทางบัตร credit/debit เป็นช่องทาง Mobile banking เช่น SMS/Website หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอปดูดเงิน โดยบัญชีม้าเป็นกลไกสำคัญของมิจฉาชีพในการถ่ายโอนเงิน
– การเปิดบัญชีม้าอาจมีที่มาได้ 2 รูปแบบ
1. บัญชีม้าที่มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัวเหยื่อไปสวมรอยเปิดบัญชี
2. บัญชีที่ประชาชนเปิดด้วยตนเอง และขายบัญชีต่อให้กับมิจฉาชีพนำไปใช้กระทำความผิด
– ปัจจุบัน การเปิดบัญชีม้าทั้งหมดที่ได้รับรายงานเป็นบัญชีที่เปิดด้วยตนเองและขายบัญชีต่อให้กับมิจฉาชีพนำไปใช้กระทำความผิด โดยส่วนใหญ่เลือกเปิดบัญชีผ่านช่องทาง online เนื่องด้วยมีความสะดวก (ยังไม่พบกรณีนำข้อมูลส่วนตัวไปสวมรอยเปิดบัญชี เนื่องจาก ธนาคารมีกระบวนการ KYC/CDD ที่เข้มงวด จะต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงและใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้าเพื่อป้องกันการสวมรอย ทั้งการเปิดบัญชีทั้งที่สาขา และออนไลน์)
(** ข้อมูลเพิ่มเติม KYC/CDD คือ การรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า )
– ธปท. ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล ซึ่งจะช่วย (1) ยกระดับมาตรฐานการจัดการปัญหาภัยการเงินของสถาบันการเงิน (2) ลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะถูกหลอกและได้รับความเสียหาย (3) สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัล โดยมีมาตรการสำคัญที่ สง. ต้องดำเนินการ เช่น