วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ถนนเส้นชุมพลบุรี – พุทไธสง บริเวณหมู่บ้านสำโรง ต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งข้างถนนเป็นแอ่งน้ำ โดยหลังจากที่เกิดฝนตกติดต่อกันมาหลายวันทำให้มีน้ำขังเกิดขึ้น บรรดาสัตว์น้ำเล็กใหญ่ต่างออกมาแหวกว่ายหาอาหารกินและผสมพันธุ์ พบว่ามีชาวบ้านเดินลุยแอ่งน้ำดังกล่าว เพื่อหาเก็บหอย มีทั้งหอยนาและหอยเชอรี่ ซึ่งมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากำปั้นคน โดยลักษณะเด่นของหอยแต่ละชนิดสังเกตุง่ายๆเลยคือ หอยเชอรี่จะออกเหลือง ส่วนหอยนาจะออกดำ
โดยนางสายันต์ แสงงาม อายุ 61 ปี ที่เสร็จจากภารกิจหว่านปุ๋ยในนาข้าว ได้นำครุถังเดินย่ำไปที่บริเวณแอ่งน้ำดังกล่าว เพื่อใช้สัมผัสที่เท้าในการหาจับหอย หากช่วงนั้นไม่มีแดด หอยก็จะลอยตัวขึ้นเกาะตามพงหญ้าและจะมองเห็นได้ง่าย หากแดดจัด ตัวหอยเองก็จะดำดิ่งลงสู่ก้นแอ่งต้องใช้การเดินเหยียบหา ซึ่งเป็นวิธีทำมาหากินของชาวอีสานตั้งแต่โบร่ำโบราณ จนมาถึงปัจจุบัน สำหรับช่วงสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ วิธีชีวิตบ้านๆของชาวอีสานจะช่วยลดและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการกินอยู่โดยการออกหาอาหารตามธรรมชาติ และอาจเป็นการสร้างรายได้อีกหนทางหนึ่ง
ทางด้าน นางสายันต์ แสงงาม อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 1 บ้านสำโรง ต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับช่วงนี้ฝนกำลังตก ตนเองได้ออกมาหว่านปุ๋ยในทุ่งนา ซึ่งก็ถือโอกาสเก็บหอยไปฝากหลานด้วยเลย โดยก่อนหน้านี้หลานของตน เปิดร้านขายอุปกรณ์การเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้หมู่บ้านส่วนแฟนหลานก็เป็นนักการภารโรงอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ด้วยในขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ จึงทำให้หลานไม่สามารถออกไปขายของได้ จึงหันมาเปิดร้านส้มตำขายในหมู่บ้าน ซึ่งเมณูยอดนิยมเลยก็คือ ตำป่า โดยส่วนประกอบของส้มตำ (ตำป่า) จะมีหอยอยู่ด้วย ตนจึงถือโอกาสมาเดินเก็บหอยเอาไปฝากหลาน เพื่อนำไปประกอบอาหารเมณูส้มตำป่า หากเหลือก็นำมาประกอบอาหารรับประทานกันในครัวเรือน สำหรับยุคเศรษฐกิจเช่นนี้ทุกคนต่างกระทบหมด หลานตนหันมาตำส้มตำขาย ก็พอได้แต่ก็ไม่มากนัก พออยู่ได้.
ภาพ-ข่าว กฤษดากร กีรติธำรงค์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.สุรินทร์