วันนี้ (30 ต.ค.66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือกับ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 2566/67 เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก โดยมี 4 มาตรการ ที่จะนำมาใช้ดูแลผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน พ.ย.66 เป็นต้นไป มีวงเงินที่จะนำมาใช้รวม 69,043.03 ล้านบาท และจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในวันที่ 1 พ.ย.66
ข่าวที่น่าสนใจ
สำหรับ 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.66-29 ก.พ.67 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้
2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67
3. ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2,120 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อ 1 พ.ย.66-31 มี.ค.67
4. การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท
นายภูมิธรรม ระบุว่า 4 มาตรการนี้ ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน ที่จะนำมาใช้ในการดูแลราคาข้าว เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายจำนำข้าว และประกันรายได้ มั่นใจว่าจะสามารถดูแลราคาข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรได้ และวงเงินที่นำมาใช้ ไม่มีปัญหาเรื่องเพดานหนี้ เนื่องจากได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว สามารถดำเนินการได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-