ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมกรรมการเพื่อพิจารณารายงานและผลการพิจารณาของอนุกรรมการจริยธรรม ซึ่งตรวจสอบ กลั่นกรอง แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นใน 5 เรื่อง โดยที่ประชุมมีมติให้รับเรื่องไว้ตรวจสอบต่อ จำนวน 1 เรื่อง คือ กรณีกล่าวหานายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม มีการกระทำหลอกหลวงผู้อื่นและมีพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อโกงเงินมูลค่า 5 แสนบาท โดยกรรมการฯ ได้ลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 มีมติ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวถือว่ามีมูลที่เข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของส.ส.และกรรมาธิการ พ.ศ.2563 ทั้งนี้ได้แจ้งให้นายพีระวิทย์ ทราบและชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน พร้อมกับได้สิทธิตรวจดูเอกสาร และยื่นแสดงพยานหลักฐานต่อกรรมการฯ ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวอาจมีรายละเอียดที่ต้องส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่เหนืออำนาจของกรรมการจริยธรรม
รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าวอาจมีรายละเอียดที่ต้องส่งต่อให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อเพราะเป็นเรื่องที่อยู่เหนืออำนาจของกรรมการจริยธรรม เนื่องจากผลการตรวจสอบเบื้องต้นของอนุกรรมการฯ ซึ่งได้เรียกผู้ร้องเรียน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหา คือเลขานุการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจให้คำชี้แจงเบื้องต้น ปรากฎหลักฐานทางการเงินที่พบการโอนเงินอย่างชัดเจน แม้กรณีดังกล่าวบุคคลภายนอกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา และยังไม่มีการชี้ขาดโดยกระบวนการยุติธรรม แต่ในทางพฤติกรรมของส.ส. ถือว่าเป็นความร้ายแรงต่อการประพฤติไม่ตรงกับจริยธรรมของผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ใน 4 เรื่องมติของกรรมการจริยธรรมไม่รับไว้พิจารณา ทั้งกรณีคำร้องกล่าวหานายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่นายมิ่งขวัญจะดำรงตำแหน่งส.ส., และจำหน่ายเรื่องร้องเรียน 3 เรื่อง เนื่องจากผู้ร้องขอถอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการยังได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เสนอใหม่ 10 เรื่อง และมอบหมายให้อนุกรรมการตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริงก่อนทำข้อสรุปเสนอให้กรรมการจริยธรรมอีกครั้ง อาทิ กรณีการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองและใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัวผู้ต้องหา, การนำป้ายปล่อยตัวแกนนำราษฎร ที่ถูกจำกุมดำเนินคดีแสดงในที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่ได้รับอนุญาต, การทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น, เผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ที่ยั่วยุปลุกปั่นให้สังคมแตกแยก , ก้าวก่ายการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น