จากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นที่ “ชมรมแพทย์ชนบท” ออกมาร้องถึงปมปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ที่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดการประมูล และได้บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ชุดตรวจ Lepu ว่า ชุดตรวจดังกล่าว ไม่ได้คุณภาพ เมื่อเทียบกับราคาที่ถูก การเลือกชุดตรวจ ATK ควรได้รับการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก ( WHO ) เท่านั้น
ล่าสุด วันที่ 30 ส.ค. 2564 อภ. กับ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ได้มีการลงนามสัญญาซื้อชุดตรวจดังกล่าวแล้ว โดยล็อตแรก 3 ล้านชิ้น จะมาถึงในวันที่ 7 ก.ย. นี้
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ได้มีการตั้งคำถามว่า การจัดประมูลครั้งนี้ของ องค์การเภสัชกรรม อาจไม่ชอบมาพากล เนื่องจากมองว่าการจัดซื้อชุดตรวจ ในราคา 75 บาทต่อชุด จำนวน 8.5 ล้านชุด อาจมีอะไรหรือไม่
โดยที่อีกฝ่ายมองว่า การที่ ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาร้องเรียนนั้น สรุปแล้วมีอะไรอยู่เบื้องหลังปมปัญหาชุดตรวจ ATK หรือไม่ โดยย้ำนักย้ำหนา ต้องเป็นชุดตรวจที่ผ่าน WHO ราคาประมาณ 120 บาทต่อชุด
ล่าสุด มีข่าวว่า ขณะนี้ องค์การเภสัชกรรม ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง สำนักงาน ป.ป.ช. ถึงพฤติกรรมของ นายแพทย์ 2 คน ที่เกี่ยวข้อง กรณี กระทำผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรณีจัดหาชุดตรวจ ATK สำหรับโควิด จำนวน 8,500,000 ชุด ต่อมา ยังมีความพยายาม ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับ บ.เอ็มพีกรุ๊ป โดยให้ข่าวบิดเบือนโจมตี อภ. ว่า ลดสเปคในการจัดหาและด้อยค่าผลิตภัณฑ์ Lepu ที่ประมูลได้อย่างต่อเนื่อง และยัง ข่มขู่ ผู้อำนวยการ อภ. เพื่อไม่ให้มีการเซ็นสัญญาซื้อ
โดย อภ. ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของ ทั้ง 2 นพ. ถึงแม้จะไม่ได้เสียหายเป็นตัวเงิน แต่เกิดความเสียหายจากความล่าช้า สั่งซื้อชุดตรวจ ATK หาก 2 นพ. ไม่เข้ามาข่มขู่กรรมการเปิดซอง ไม่มาเพิ่มเติมสเปคในส่วนที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ บ.เอ็มพีกรุ๊ป การปิดซองก็คงไม่ต้องถูกเลื่อน ประเทศไทย ก็จะได้รับชุดตรวจ ATK ครบ 8.5 ล้านชุด ในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ไม่ใช่เพิ่งจะลงนามในสัญญาวันนี้ ( 30 ส.ค.) จึงทำประชาชนเสียโอกาสในการแยกตัวผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ มีผู้เจ็บป่วยล้มตายมากขึ้นด้วย และ 2 นพ. ที่กล่าวถึงมานี้ จะเป็นใคร ก็ต้องจะต้องติดตามกันต่อไป