ปลดล็อกใช้งบ “กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน” ต่อยอดโครงการ  Gig Worker ฝ่าวิกฤตจ้างงาน

กดติดตาม TOP NEWS

"มนัส โกศล" ที่ปรึกษา "รมว.แรงงาน" ชงปลดล็อกใช้งบ "กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน" ต่อยอดโครงการ  Gig Worker พัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมเครื่องมือทำมาหากิน อัดฉีด “เงินลงทุน” ช่วยเหลือ "เยาวชนแรงงาน” กรุยทางตั้งตัวอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือ สร้างอาชีพใหม่ที่เป็นอาชีพอิสระฝ่าวิกฤตจ้างงาน

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โครงการพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 จัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ทักษะชีวิตว่าด้วยเรื่อง ภาวะและแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต มั่นคงหรือน่าเป็นห่วง? แก่แกนนำสหภาพแรงงานปราจีนบุรี , เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่เป็นพนักงานในโรงงานและบุตรหลานผู้ใช้แรงงานที่อาศัยอยู่ชุมชนโดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

นายมนัส  โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ที่ปรึกษานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจเปราะบางและการจ้างงานในอนาคต ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่สังกัดในกระทรวงแรงงาน ตัวอย่างเช่น โครงการ กสศ.เข้ามาหนุนเสริม “สหภาพแรงงานปราจีนบุรี” สร้างกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ “ค้นหากลุ่มเป้าหมาย” และ พัฒนาการเรียนรู้เยาวชนแรงงานด้วยการจุดประกายทางความคิดให้ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ หรือทักษะวิชาการให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จากนั้นส่งไม้ต่อให้กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 หรือ Gig Worker ให้ได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและได้รับเครื่องมือทำมาหากินหารายได้เสริมระหว่างทำงานประจำในโรงงานหรือสร้างอาชีพใหม่ที่เป็นอาชีพอิสระในอนาคตหากต้องประสบปัญหาว่างงาน

อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการฝ่าวิกฤตการจ้างงานในอนาคต จึงเตรียมนำเสนอต่อกระทรวงแรงงานให้สามารถนำงบประมาณบางส่วนของ “กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน” จำนวนหลายร้อยล้านบาท ที่เป็นเงินสะสมจากค่าปรับของผู้ประกอบการที่ไม่ส่งเสริมลูกจ้างฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ควรนำงบประมาณดังกล่าวมา “ส่งเสริมการลงทุน” อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่เยาวชนแรงงานหรือผู้ใช้แรงงานที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 หรือ Gig Worker  ที่ต้องการเปลี่ยนสาขาอาชีพ จากการได้รับผลกระทบจากปัญหาว่างงาน , ต้องการลาออกจากงาน หรือ Early retire นับเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งรับและปรับตัวกับปัญหาว่างงานในอนาคต อาทิ แนวโน้มการใช้ Automation และการจ้างแรงงานข้ามชาติมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย เป็นต้น

นายจีรศักดิ์ เตียวตระกูล นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ  กล่าวว่าโครงการ Gig Worker  ไม่เพียงแต่เพิ่มทักษอาชีพและจัดหาอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ภายใต้วงเงิน 4 พันบาทต่อคนเท่านั้น แต่ยังจะให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์การตลาดและเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ เช่น น้อง ๆ ที่ทำงานในโรงงานไฮเออร์ จำหน่ายข้าวหลามกับเครื่องดื่มชากาแฟหารายได้เสริมระหว่างทำงานในโรงงาน ยังมีจุดอ่อนทางธุรกิจที่ต้องปรับปรุง เช่น ควรส่งเสริมให้ได้มาตรฐานอาหารและยา (อย.) , ควรส่งเสริมรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามเตะตาลูกค้าหรือควรปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น หรือหากได้รับการหนุนเสริมด้าน “ส่งเสริมการลงทุน” ตามข้อเสนอของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเสนอ อาจจะสามารถยกระดับสินค้าของตัวเองเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ในอนาคตก็เป็นได้

ทั้งนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนน้อง ๆ เยาวชนแรงงานได้แสดงความคิดเห็นถึงความสำคัญของการมีอาชีพเสริมระหว่างทำงานประจำในโรงงาน เพราะรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาทต่อวัน หรือ ค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ไม่เพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจครอบครัว พร้อมกับรับฟังข้อเสนอแนะจากแกนนำสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย ที่เตรียมยื่นข้อเสนอต่อผู้ประกอบการโรงงาน อนุญาตให้สหภาพแรงงานฯ เปิดพื้นที่บางส่วนใน “แคนทีนโรงงาน” เป็นร้านค้าสหภาพแรงงานฯ จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของน้อง ๆ เยาวชนแรงงาน

/-/-/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น