“การบินไทย” อู้ฟู่รายได้ไตรมาส 3 เพิ่ม 12.6% จากปี 65

วันที่ 10 พ.ย.66 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI พร้อมด้วย นายนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ /นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร และนางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงาน ไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% จากการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

และมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0%

 

 

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม)

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท

 

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท

 

 

 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง 31,720 ล้านบาท

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า ปัจจุบัน การบินไทย และบริษัทย่อย มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยมีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 3 ลำ และมีแผนที่จะทยอยรับเพิ่มอีก 23 ลำ ตั้งแต่ ไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นต้นไป

นายปิยะสวัสดิ์ ยอมรับว่า ปัจจุบันการบินไทย มีเครื่องบินไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น หากมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นจะนำมาใช้บินในเส้นทางต่างๆ ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก และเป็นเมืองที่มีศักยภาพ ทั้ง ซิดนีย์ ออสเตรเลีย อินเดีย ขณะที่มาตรการวีซ่าฟรี ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งจีน ก่อนหน้านี้มียอดจองเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากจีนประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจภายในจึงมีการยกเลิกเที่ยวบิน ด้านคาซัคถาน บริษัทไม่มีเที่ยวบิน  ส่วนอินเดีย และไต้หวันนั้น ยังไม่เห็นความชัดเจนเพราะยังเร็วเกินไปจึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้

 

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

 

 

 

นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่างๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า

ขณะที่ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลายๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

 

 

นายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า ตามแผนฟื้นฟูฯกำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธันวาคม 2567 จำนวน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก โดยคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ราวไตรมาส 2 ปี 2568

ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อาจจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการฟื้นสถานะความเป็นสายการบินแห่งชาติ นายปิยสวัสดิ์ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พร้อมถามกลับว่า จะได้อะไรจากการเป็นสายการบินแห่งชาติ เพราะไม่เคยไม่ได้รับอะไรจากการเป็นสายการบินแห่งชาติ ทั้งนี้ ในอดีตอาจจะมีสายการบินน้อย เลยอาจจะดูว่า การบินไทยได้สิทธิพิเศษ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย
“สมศักดิ์” ยกนวดไทยเป็นมรดกชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เล็งพาหมอนวดโกอินเตอร์ โชว์ฝีมืองาน เวิลด์เอ็กซ์โปโอซาก้า ญี่ปุ่น
ห่ามาแล้ว! “แม่สอด” พบติดเชื้ออหิวาต์ เผยญาติฝั่งพม่าซื้อข้าวมากินด้วยกัน
ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ สั่งตั้งคกก.สอบ "ตร.จราจร" รีดเงินแทนเขียนใบสั่ง
สตม. บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลางคอนโดหรูห้วยขวาง รวบ 6 คนจีน อึ้งเจอซิมการ์ด 2 แสนซิม
ครูบาอริยชาติ เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ฉลองสมโภช 18 ปีวัดแสงแก้วโพธิญาณ และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 44 ปี
กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา "ชวาล" ส.ส.พรรคประชาชน ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ โทษคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
จีนเตือนสหรัฐกำลังเล่นกับไฟหลังส่งอาวุธให้ไต้หวัน
อิลอน มัสก์วิจารณ์แรงผู้นำเยอรมันเหตุโจมตีตลาดคริสต์มาส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น