นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ ประเทศไทย ได้ดำเนินการตามปฏิญญาทางการเมืองที่ประกาศมุ่งมั่นยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่เกิน 1,000 ราย/ปี ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ ไม่เกิน 4,000 ราย/ปี และลดการรังเกียจตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย ให้ได้ร้อยละ 90 ซึ่งผลการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาสังคม เป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ในประเทศขณะนี้ดีขึ้นเรื่อย ๆ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา พบ 4,855 ราย
นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่อว่า มาตรการที่ไทยจะนำมาใช้แก้ไขปัญหาเอดส์ในปี 2564 นี้ ก็คือ การสนับสนุนให้ประชาชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ขับเคลื่อนร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หน่วยงานอื่น ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ตามมติคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้สถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง โดยในปี 2564 มีชุดทดสอบผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานจาก อย.แล้ว 2 ชนิด คือ ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีจากการเจาะเลือดปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที และชุดตรวจโดยการใช้น้ำลายอ่านผลได้ใน 20 นาที โดยเตรียมวางจำหน่าย ในร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วประเทศ ตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะสอดรับกับข้อจำกัดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ ไม่สามารถไปตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาลตามปกติ ชุดทดสอบนี้จะทำให้ประชาชนนำไปใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น เพื่อให้รู้สถานการณ์ติดเชื้อของตนเองได้เร็ว และตรวจยืนยันอีกครั้งที่สถานพยาบาล หากพบว่าติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีในสถานพยาบาล ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วตามสิทธิการรักษา จนสามารถลดเชื้อไวรัสในกระแสเลือดได้ และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่คนอื่น
“ชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตนเอง ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์ชาย กลุ่มหญิงข้ามเพศ กลุ่มพนักงานบริการ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น และประชาชนทั่วไป หากพบว่า ติดเชื้อ ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตนี้ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะนำไปสู่การปรับสูตรยาให้กินง่ายขึ้น ทั้งขนาดและจำนวนลดลง และลดอาการแทรกซ้อนหรือผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตดีเหมือนคนปกติ” นายแพทย์ปรีชากล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิง ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาคมโรคเอดส์ ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เปรียบเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีและโรคโควิด-19 ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเหมือนกัน แต่ความรุนแรงและแนวทางในการป้องกัน ควบคุมโรค ต้องใช้วิธีการและเทคโนโลยีด้านการตรวจคัดกรอง การดูแลรักษาที่แตกต่างกัน โดยการติดเชื้อเอชไอวี มีการระบาดทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงขณะนี้ เกือบ 40 ปีแล้ว มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก จำนวน 37.7 ล้านราย เสียชีวิต 36 ล้านราย สาเหตุการติดเชื้อมาจากเพศสัมพันธ์และทางเลือด โดยปัจจุบัน มียาต้านไวรัสรักษา และได้ผลดีมาก สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดลดลงได้มาก ส่วนวัคซีนในการป้องกันไวรัสเอชไอวี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในเฟสที่ 3 ดังนั้น มาตรการการป้องกันหลักยังเน้นการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมทั้ง การกินยาต้านไวรัสสำหรับป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ เพร็พ(PrEP) โดยสรุปแล้วปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีส่งผลกระทบระดับโลกในระดับสูง
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี 2527–2563 รวมเกือบ 36 ปี มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ยังมีชีวิตอยู่ 462,376 คน ในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,855 คน เสียชีวิต 11,882 คน ผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิต รู้สถานการณ์ติดเชื้อของตนเองร้อยละ 94.3 ขณะนี้อยู่ในระบบการรักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศด้วยยาต้านไวรัสร้อยละ 83.5 ในจำนวนนี้สามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ร้อยละ 97.2 จึงเชื่อมั่นว่า เราจะประสบผลสำเร็จในการยุติปัญหาได้ตามเป้าหมาย