รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ว่า จากคำถาม เศรษฐกิจไทยวิกฤตจริงหรือไม่ คำว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และนักวางนโยบายส่วนใหญ่ มองและเห็นพ้องร่วมกัน คือการที่เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีการขยายตัวติดลบหรือมีการขยายตัวที่ต่ำมาก จนทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าคือ ”วิกฤตเศรษฐกิจ “
โดยวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ หนึ่ง การล้มลงของสถาบันการเงินหลายแห่ง หรือที่เรียกว่า financial crisis ซึ่งเมื่อสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ล้ม หรือปิดกิจการลง จะทำให้เกิดปัญหาสินเชื่อตึงตัวจึงทำให้มีการปิดกิจการของธุรกิจต่างๆ ต่อเนื่อง จนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ และทำให้เกิดการปลดคนงาน
สถานการณ์เหล่านี้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่คุ้นเคยในช่วงที่ผ่านมา คือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่มีการปิด 56 ไฟแนนซ์ และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ ถึง 7.5% ในปี 2541 และวิกฤตการณ์ซับไพร์มของสหรัฐ ที่ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐปิดกิจการลง จากการปล่อยสินเชื่อคุณภาพต่ำ ในปี 2551
วิกฤตเศรษฐกิจที่สอง คือ วิกฤตที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงของประเทศนั้นๆ จนทำให้เกิดเงินไหลออก หรือทำให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน และทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง ทำให้ประเทศนั้นจะต้องกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟ และสถาบันการเงินอาจตึงตัวในด้านการเงิน จึงเป็นที่มาที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบหรือขยายตัวต่ำ
โดยวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ วิกฤตต้มยำกุ้งที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7% ของจีดีพี ในปี 2541 /วิกฤตการณ์ ค่าเงินเปโซ หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงของประเทศเม็กซิโก จนทำให้เกิดสถานการณ์ที่มีการเก็งกำไรค่าเงินเปโซซึ่งเกิดขึ้นในปี 2538
วิกฤตการณ์ที่สาม เกิดมาจากการที่มีเหตุปัจจัยอื่นๆ อาทิ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดรุนแรงคือ โควิด-19 ที่ทำให้ทั่วโลกมีการปิดประเทศ ปิดกิจการ และทำให้มีการปลดคนงาน ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ อาทิ ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1%
ทั้งหมดจึงเป็นภาพรวมของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ประเทศนั้นๆ มีเศรษฐกิจที่ขยายตัวติดลบ จนทำให้เกิดการปลดคนงาน ซึ่งของไทยเจอวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 ที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบในปี 2541 คือ -7.5% และการว่างงานเกิดขึ้นประมาณ 4.3-4.4% และช่วงโควิด-19 ที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 6.1% และการว่างงานปรับสูงขึ้นจาก 1% เป็น 2%