วันที่ 23 พ.ย. 66 ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte” ระบุว่า ไปต่อหรือพอแค่นี้ ? อึ้ง 30 วัน 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนวันละ 7.4 ล้าน !
น่าแปลกใจที่ รมว. คมนาคม ไม่แถลงข่าวการใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงหลังจากที่ใช้ครบ 30 วัน หรือ 1 เดือนแล้ว ซึ่งพอจะประเมินได้แล้วว่าผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ? ต่างกับวันเปิดใช้นโยบายนี้ในวันแรกเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ รมว. คมนาคมแถลงข่าวใหญ่โตด้วยการชูธนบัตร 20 บาท พร้อมยิ้มกว้างต่อหน้านักข่าวมากมาย
1. ประเมินนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ในช่วง 30 วัน
เป็นการเปรียบเทียบผลก่อนใช้นโยบายนี้ 30 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 2566 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 2566 กับหลังใช้นโยบายนี้ 30 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ต.ค 2566 ถึงวันที่ 14 พ.ย. 2566 โดยไม่รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์
2. รายได้ลดลงวันละ 5 แสน ขาดทุนวันละ 7.4 ล้าน
หลังใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย เป็นเวลา 30 วัน พบว่ารถไฟฟ้า 2 สายนี้ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้สายสีแดง 5 แสนบาท สายสีม่วง 8 แสนบาท ลดลงจากเดิมวันละ 5 แสนบาท คิดเป็น 28% ในขณะที่มีรายจ่ายค่าจ้างเดินรถทั้ง 2 สาย เฉลี่ยวันละ 8.7 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท
ในส่วนของปริมาณผู้โดยสาร พบว่ารถไฟฟ้า 2 สายนี้ มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 91,450 เที่ยว หากผู้โดยสารเดินทางวันละ 2 เที่ยว/คน ก็จะคิดเป็นจำนวนคนได้วันละ 45,725 คน ประกอบด้วยผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง 13,064 คน สายสีม่วง 32,661 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 10,893 เที่ยว หรือวันละ 5,446 คน คิดเป็น 13%