วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ TOPNEWS พร้อมผู้สนับสนุนหลัก อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดเวทีเสวนา “ปากท้องคนไทยจะเป็นอย่างไรในปี 2567” รดน้ำที่ราก เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น โดยนายเอกชัย ชัยเชิดชูกิจ ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ TOPNEWS กล่าวเปิดงาน และวัตถุประสงค์ของงาน พร้อมด้วย นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด เข้าร่วมงาน
สำหรับงานเสวนา “ปากท้องคนไทยจะเป็นอย่างไรในปี 2567” นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจประเทศไทย 2567” ระบุว่า ปี 67 ต้องดูปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เริ่มจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งการเติบโตในปีหน้าโดยรวมยังใกล้เคียงกับปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 66 จะเติบโตที่ 3% ในขณะที่ปี 67 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยที่ 2.9% เนื่องจากหลายประเทศคู่ค้าของเรา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น จะมีการเจริญเติบโตที่ชะลอลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับประมาณ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ เป็นสัญญาณว่า มูลค่าการค้าของไทยก็น่าจะยังทรงตัวต่อไป
ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจีน ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยไปด้วย ซึ่งยังไม่ฟื้นจากช่วงโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 40 ล้านคน ขณะที่ปีนี้ คาดว่าจะได้ไม่เกิน 28 ล้านคน และปี 67 เป็นปีที่จะเริ่มฟื้นตัวได้บ้างที่ 34-35 ล้านคน
นายกฤษฎา ระบุว่า สำหรับเศรษฐกิจภายในประเทศ เสถียรภาพยังดีอยู่ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เรียกได้ว่าต่ำที่สุดในอาเซียน โดยในปี 67 คาดว่าจเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.5% และน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงปี 66 คิดว่ายังเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากหากราคาพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับนี้ แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อก็น่าจะลดลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องดูปัจจัยเสี่ยงอื่น ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่อาจมีผลสืบเนื่องต่ออุปทานหรือ Supply และราคาสินค้าเกษตร และผลกระทบด้านเงินเฟ้อจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคต่าง ๆ เป็นต้น
ส่วนเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง ไม่ต้องเป็นห่วง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 19.9 สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่น้อยกว่า 8.5% , หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62% ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมภายในประเทศ ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบการเงินโลกหรือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนต่อเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของไทยจึงมีน้อยมาก , เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท , ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ , ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลเกือบ 3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ , Credit Rating ที่ไทยคงไว้ในระดับ BBB+ สะท้อนเสถียรภาพของไทยได้ด
นายกฤษฎา ระบุว่า ปี 67 คาดว่าจะเติบโตได้ 3% เล็กน้อย แต่ยังไม่รวมมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะออกมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า และปลายปี โดยหลายมาตรการอยู่ระหว่างการออกแบบ และต้องดูประสิทธิภาพของมาตรการว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด รวมถึงต้องดูเครื่องจักรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายของภาครัฐจากงบประมาณปี 67 ที่ออกมาล่าช้า และคาดว่าจะใช้ได้ในช่วงปลายเดือนเม.ย. ถึงต้นเดือนพ.ค.67
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยก็ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายประการ ปัจจัยความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนจากภายนอก ได้แก่ ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่น ทั้งในฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่เอเชีย-แปซิฟิก เศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตได้ไม่สม่ำเสมอ ภาวะนโยบายการเงินตึงตัวและดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้ตลาดการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความผันผวนสูง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากภายใน ก็มีความเสี่ยงจากปัจจัยการผลิต หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง ได้แก่
1. โครงสร้างประชากรที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ 20% ของประชากร เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ อย่างในภาคเกษตรกรรมนี้ เข้าใจว่า อายุเฉลี่ยของแรงงานเกินกว่า 50 ปี และเมื่อจำนวนแรงงานลดลง ฐานภาษีที่จะเป็นรายได้ของประเทศก็ลดลงเช่นกัน
2. เม็ดเงินลงทุน ซึ่งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% ของ GDP มานานถึง 25 ปี
3. หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 80% ของ GDP มากว่า 10 ปี และปัจจุบันอยู่ที่กว่า 90% ของ GDP ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนทำได้ไม่สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงการออมและการลงทุนของครัวเรือน
เมื่อนำมารวมกันแล้ว ก็จะไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดเศรษฐกิจไทย แม้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็เติบโตในอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา จากที่โตได้ในระดับ 5-6% ในช่วงหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ลดลงมาเป็นเติบโตไม่ถึง 1% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเติบโตสะดุดช่วงไปการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย