แต้มต่อของจีนในเวลานั้นคือความมีเสถียรภาพทางการเมือง ที่ดินที่เป็นของรัฐซึ่งรัฐสามารถให้นักลงทุนต่างประเทศได้ในราคาต่ำ การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเอัตราพื่อรองรับการพัฒนาที่ครบถ้วน จากพื้นที่ชนบท เป็นพื้นที่ที่มีน้ำประปาใช้ ไฟฟ้าสว่าง หนทางดี อัตราค่าแรงต่ำมากเนื่องจากเพิ่งเปิดประเทศใหม่ ๆ หลังจากปิดมาหลายปี แต่ใครจะไปลงทุนต้องจ้างแรงงานจีนเป็นหลักและต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เปิดให้นำเข้าส่งออกสินค้าที่ผลิตได้โดยไม่เก็บภาษีนำเข้าหรือส่งออก หรือเรียกเก็บในอัตราต่ำมาก
และที่สำคัญการให้บริการของภาครัฐเป็นแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ โดยการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นตั้งอยู่เป็นการชั่วคราว (10 ปี) มาจัดตั้งเป็นองค์กรบริหารพื้นที่พิเศษที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมการบริหารมณฑลกวางตุ้งเพื่อให้การบริหารจัดการต่าง ๆ เป็นระบบเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างให้บริการ และเมื่อครบ 10 ปี จึงให้ฟื้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นกลับมาเหมือนเดิม แต่มาตรการให้บริการของทุกท้องถิ่นนั้นต้องเป็นมาตรการเดียวกันอย่างที่องค์กรบริหารจัดการพื้นที่พิเศษได้วางไว้
จะเห็นได้ว่าจีน “สวนกระแส” ของระบบเศรษฐกิจโลกในเวลานั้นแบบที่เรียกว่า “ฉีกทุกตำรา” และทำให้นักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลไปลงทุนในจีนกันอย่างล้นหลาม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีช่วยเสริมการพัฒนา 4 ทันสมัย (เกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการทหาร) ได้เป็นอย่างดี จนทำให้นโยบาย 4 ทันสมัยประสบความสำเร็จและสร้างความรุ่งเรืองให้กับจีนมาจนปัจจุบัน
หลายประเทศ “ลอก” รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษจีนไปใช้โดยไม่ได้เข้าใจบริบทที่ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนประสบความสำเร็จไปด้วย ประกอบกับแนวคิดการค้าเสรีที่ทำให้แต้มต่อต่าง ๆ ที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการลด tariff และ non-tariff barriers การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ การเปิดตลาด ซึ่งเป็นไปตามกระแสการค้าเสรีของ GATT ที่กลายเป็น WTO ในช่วงปลาย 1990s การไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าที่ดินที่แพงขึ้น เหล่านี้ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประเทศอื่นได้ลอกไปใช้จึงไม่มีที่ใดประสบความสำเร็จเท่าที่ต้นแบบจีนได้ทำไว้
ที่สำคัญ ความสำเร็จของจีนได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจจีนเข้มแข็งมากขึ้นจนกลายเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
คนทั่วไปมักคิดว่าไปขายของที่จีนจะรวยเพราะคนจีนมีมาก แต่ในทางความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจจีนปัจจุบันพัฒนาไปจนสามารถกำหนดกฎเกณฑ์และทิศทางการค้าระหว่างประเทศได้แล้ว ไม่ใช่จีนเมื่อ 40 กว่าปีก่อนอีกต่อไป นั่นเป็นความคิดที่ชรามาก จีนไม่ได้ซื้อเพราะ production line ในประเทศมีมาก หากแต่ป้อน products เข้าสู่ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพื้นฐานเรื่อยไปจนถึงสินค้าไฮเทค จนกระทั่งหลายประเทศถึงกับมีประเด็นทางการค้ากับจีน
ที่สำคัญจีนมี soft power ที่หาได้ยากในที่อื่นนั่นคือ “ความรักชาติ” สิ่งนี้สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จและการพัฒนาประเทศในทัศนะของผม ชาติต้องมาก่อนเสมอ แต่ก็ไม่ถึงกับคลั่งชาติอย่างในตะวันตก ตำแหน่งความรักชาติของเขามีจุดสมดุลในตัวเอง
เหมือนปรัชญาของสำนักบู๊ตึ้ง “จงอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ จงเข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกระด้าง”
การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่ใช่เพียงการออกกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย.
โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์