รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ระบุว่า หากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ผ่าน และไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จะต้องกลับมาพิจารณาถึงสาเหตุว่ามาจากกรณีใด หากไม่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกา รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าทำสิ่งต่างๆ ได้ เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โดยการลาออก หรือการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะกลับลำได้
กรณีต่อมา คือ หากโครงการ digital Wallet ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกา แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ทางออกที่สำคัญของรัฐบาลคือ “การยุบสภา” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์นี้ ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะเร่งส่งเรื่องนี่ไปให้กฤษฎีกาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้กฤษฎาตีความโดยเร็ว ทั้งนี้ หากโครงการ Digital Wallet ไม่สามารถใช้ได้ รัฐบาลยังมีทางเลือกอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกอะไรเพื่อตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้น / ระยะปานกลาง หรือ ระยะยาว
ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามตอบโจทย์ทุกโจทย์ของประชาชน ทั้งในเรื่องของ
– ค่าครองชีพ ผ่านการลดค่าไฟฟ้าและราคาพลังงาน โดยทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ล่าสุด งวดม.ค.-เม.ย.67 พยายามกดให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย จาก 4.68 บาทต่อหน่วย
– หนี้ครัวเรือน ที่แก้โจทย์ในเรื่องของหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ เนื่องจากเห็นว่าประชาชนเป็นหนี้จำนวนมาก โดยรัฐบาลได้พยายามตอบโจทย์ที่เป็นจุดสำคัญของประเทศ
– การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีการเสนอให้ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการเก็บข้อมูลและรวบรวมการทำซอฟพาวเวอร์ เพราะรัฐบาลเห็นว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศ เป็นการสร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า หากสังเกตุจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะโจทก์ที่รัฐบาลพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการใช้นโยบายเงิน digital Wallet ดังนั้น “โจทย์ที่รัฐบาลจะต้องตอบ คือจะตอบอะไร” หนึ่งตอบโจทย์ประเทศระยะสั้นเหมือนเดิม โดยการหานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ระยะยาวและระยะกลาง รัฐบาลจะต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยังยืน